
เครื่อง Advanced Virgo
ที่มา Virgo collaboration
คงมีข่าววิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่ข่าวที่ทำให้คนเกือบทั้งโลกหันมาสนใจอย่างพร้อมเพรียงกัน ข่าวการค้นพบอนุภาคฮิกส์โบซอน (Higgs Boson) เมื่อปี ค.ศ.2012 คงเป็นหนึ่งในนั้น เพราะการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นได้ทำให้ผู้คนมากมายที่อยู่นอกวงการฟิสิกส์เริ่มรู้จักกับคำว่าฟิสิกส์อนุภาค (Particle Physics) เครื่องเร่งอนุภาค (Particle Accelerator) และองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research หรือ CERN)

ท่อลำเลียงอนุภาคภายใน LHC
ที่มา CERN
เครื่องเร่งอนุภาคฮาดรอนแบบปะทะขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider หรือ LHC) ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ดินที่ CERN เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ที่มนุษย์เคยสร้างมา แต่ความใหญ่โตของมันก็ทำให้มันได้รับผลกระทบจากสัญญาณรบกวนที่มาจากพื้นดินหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนจากการคมนาคม แผ่นดินไหว ไปจนถึงการขยับตัวของพื้นดินเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์ที่ CERN จึงต้องพัฒนาเครื่องตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismometer) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาค
ไม่นานมานี้ นักวิจัยจาก CERN และ Joint Institute for Nuclear Research (JINR) จากประเทศรัสเซีย ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนชนิดใหม่ที่เรียกว่า Precision Laser Inclinometers (PLI) โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นการยิงแสงเลเซอร์ไปยังพื้นผิวของของเหลวแล้วสังเกตผลลัพธ์จากการสะท้อนแสงของมัน ซึ่ง PLI สามารถตรวจวัดการเปลี่ยนตำแหน่งของวัตถุได้ทุกแนวและสามารถตรวจวัดการเคลื่อนไหวที่มีความถี่ตั้งแต่ 1 mHz ถึง 12.4 Hz ด้วยความไว (Sensitivity) สูงถึง 2.4x10-5 μrad/Hz½ ได้อย่างแม่นยำ!
ส่วนประกอบและการทำงานของ PLI
ที่มา บทความ THE CALIBRATION OF THE PRECISION LASER INCLINOMETER โดย V. Batusov และคณะ (2015)

สัญญาณคลื่นไหวสะเทือนจาก Seismometer ที่อิตาลีเทียบเคียงกับสัญญาณจาก PLI ที่ Virgo ขณะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.9 ตามมาตราริกเตอร์ (3.9ML) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 2019
ที่มา Beniamino Di Girolamo/CERN
ทีมนักวิจัยได้ทำการทดสอบเครื่อง PLI ทั้งที่ JINR และที่ CERN เนื่องจากเครื่อง High-Luminosity Large Hadron Collider (HL-LHC) ที่จะเปิดใช้งานในอนาคตจะมีการบีบลำของโปรตอนให้เล็กลง (การชนกันของอนุภาคภายในลำอนุภาคที่มีพื้นที่หน้าตัด 1 ตารางเซนติเมตรเรียกว่า Luminosity) เพื่อเพิ่มอัตราการชนระหว่างโปรตอนกับโปรตอน (Proton–Proton Collisions) ซึ่งการบีบลำของอนุภาคอาจทำให้คลื่นไหวสะเทือนจากแผ่นดินไหวส่งผลกระทบต่อการชนกันของลำโปรตอนได้ ผลการทดสอบพบว่าเครื่อง PLI สามารถนำมาใช้เป็นระบบแจ้งเตือนการสั่นสะเทือนล่วงหน้า (Early Warning Seismic System) ได้เป็นอย่างดี
ตอนนี้ นักวิจัยได้ทำการติดตั้งเครื่อง PLI ที่สถาบันวิจัยหลายแห่ง เช่น Garni Seismic Observatory ที่ประเทศอาร์เมเนีย รวมถึง European Gravitational Observatory ในประเทศอิตาลีที่เครื่องตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงชื่อ Advanced Virgo ตั้งอยู่ ทำให้การตรวจวัดสัญญาณรบกวนจากแผ่นดินไหวขนาดเล็กและแรงสั่นสะเทือนอื่นๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และลดผลกระทบที่มีต่อการทำวิจัยได้เป็นอย่างดี
ข่าวนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่อง PLI เป็นการแบ่งปันคุณประโยชน์ระหว่างฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์คลื่นความโน้มถ่วง ฟิสิกส์เชิงแสง และธรณีฟิสิกส์อย่างแท้จริง พวกเราคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าเครื่อง HL-LHC และเครื่อง Advanced Virgo ที่มีเครื่อง PLI เป็นกองหนุนจะค้นพบอนุภาคใหม่ๆ หรือคลื่นความโน้มถ่วงใหม่ๆ ในอนาคตได้อีกหรือไม่
อ้างอิง
บทความโดย สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์