ฝุ่นอวกาศจากซูเปอร์โนวาถูกพบที่ทวีปแอนตาร์กติกา

27-09-2019 อ่าน 2,532



สถานีวิจัยขั้วโลก Germany’s Kohnen Station
ที่มา Alfred Wegener Institute

 
          อวกาศที่มืดดำไม่ได้ว่างเปล่า แต่มันเต็มไปด้วยฝุ่นอวกาศ (Space Dust) ที่อยู่ในกลุ่มเมฆระหว่างดวงดาวท้องถิ่น (Local Interstellar Cloud) ซึ่งหลุดกระเด็นออกมาจากดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และการระเบิดของดาวฤกษ์ ระบบสุริยะของเราเคลื่อนผ่านเมฆฝุ่นนี้อยู่ตลอดเวลาทำให้ฝุ่นอวกาศตกสู่โลกอยู่ทุกขณะ ฝุ่นอวกาศเหล่านี้บางครั้งอาจเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าทำให้พวกมันอาจพุ่งชนชุดของนักบินอวกาศจนเกิดเป็นรู แต่ระบบสุริยะก็มีวิธีจัดการกับฝุ่นเหล่านี้ให้ลดจำนวนลง โดยฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าระดับไมครอนจะถูกแรงดันรังสี (Radiation Force) ของดาวฤกษ์พัดพาออกจากระบบสุริยะ ส่วนฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่าจะโคจรอยู่ในอวกาศหรือถูกแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ดึงเข้าหา กระบวนการนี้เรียกว่า Poynting-Roberson Effect ถูกเสนอโดย John Henry Poynting และ Howard Percy Robertson เมื่อปี ค.ศ.1903 ดังรูป

 

  รังสีจากดาวฤกษ์และการแผ่รังสีของอนุภาคฝุ่น กรณีผู้สังเกตเคลื่อนที่ไปพร้อมฝุ่นและกรณีผู้สังเกตอยู่นิ่งเทียบกับดาวฤกษ์ 

 
          ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ที่ Kohnen Station ซึ่งเป็นสถานีวิจัยขั้วโลกที่ถูกตั้งชื่อตามนักธรณีฟิสิกส์ Heinz Kohnen ได้ค้นพบฝุ่นอวกาศในชั้นหิมะที่ตกอยู่ใกล้ๆ สถานีวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกา พวกเขาได้ส่งตัวอย่างหิมะจำนวน 500 กิโลกรัมที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีซึ่งปนเปื้อนฝุ่นอวกาศไปยังห้องปฏิบัติการในเมืองมิวนิค จากนั้นทำการละลายหิมะเพื่อกรองฝุ่นอวกาศออกจากส่วนประกอบอื่นแล้ววิเคราะห์หาส่วนประกอบของมันด้วยเครื่อง Accelerator Mass Spectrometer พวกเขาพบว่าฝุ่นอวกาศดังกล่าวอุดมไปด้วยไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุเหล็ก-60 (60Fe) ที่หาไม่ได้บนโลกและมีครึ่งชีวิต (Half-Life) ประมาณ 2.6 ล้านปี โดยไอโซโทปดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อรังสีคอสมิก (Cosmic Ray) เข้ากระทบกับฝุ่นในอวกาศ หรือเกิดขึ้นได้เป็นปริมาณมากจากผลผลิตของซูเปอร์โนวา (Supernova)


           เพื่อความแน่ชัดของคำตอบว่าฝุ่นอวกาศที่ปนเปื้อนธาตุเหล็ก-60 นี้มาจากไหน นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการเปรียบเทียบอัตราส่วนของธาตุเหล็ก-60 กับธาตุแมงกานีส-53 (53Mn) ซึ่งเกิดจากรังสีคอสมิกเช่นกัน ผลการวิเคราะห์พบว่าฝุ่นอวกาศนี้มีธาตุเหล็ก-60 มากกว่าธาตุแมงกานีส-53 ในสัดส่วนที่สูงกว่าที่จะเกิดจากรังสีคอสมิกในระบบสุริยะ การมีธาตุเหล็ก-60 ในปริมาณมากจึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนว่าฝุ่นอวกาศนี้น่าจะเกิดจากซูเปอร์โนวาในอดีตที่อยู่ไม่ไกลจากระบบสุริยะของเรามากนัก

 

ระบบสุริยะเคลื่อนผ่านกลุ่มเมฆระหว่างดวงดาวท้องถิ่น
ที่มา NASA’s Goddard Space Flight Center / Adler / University of Chicago / Wesleyan

 
           ในความเป็นจริง ธาตุเหล็ก-60 สามารถถูกสร้างขึ้นได้จากการระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์ แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่เคยมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากระเบิดนิวเคลียร์มาก่อน แหล่งกำเนิดอีกแห่งคือภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่ธาตุเหล็ก-60 ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีปริมาณน้อยและถูกจำกัดเอาไว้ทำให้รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ยาก ก่อนหน้านี้ประมาณสองทศวรรษ นักวิทยาศาสตร์เคยพบธาตุเหล็ก-60 ในหินตะกอนโบราณใต้ทะเลลึกที่มหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย รวมถึงอุกกาบาตที่เก็บมาจากดวงจันทร์ในภารกิจของโครงการอะพอลโล 12 15 และ 16 ดังนั้นการพบฝุ่นอวกาศที่มีธาตุเหล็ก-60 ที่ทวีปแอนตาร์กติกาในครั้งนี้จึงเป็น “ครั้งแรก” ที่พวกมันถูกพบในดินแดนน้ำแข็งขั้วโลก ไม่แน่ว่าดินแดนน้ำแข็งซึ่งถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ค่อนข้างน้อยอาจเก็บงำความลับที่น่าสนใจอย่างอื่นไว้อีกก็เป็นได้

 
บทความโดย สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อ้างอิง