แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนชนิดใหม่ที่ยืดหยุ่น คงทน และไม่สามารถเผาไหม้ได้

30-10-2019 อ่าน 14,708

(Credit: picture from [1])

 
          ดังที่เราทราบกันว่าผลรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2562 นี้ ได้มอบให้แด่ผู้คิดค้นและพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน (Lithium-ion battery) ซึ่งเหตุผลที่ทำให้การพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดนี้ได้รับรางวัล เนื่องจากแบตเตอรี่ชนิดนี้มีความสำคัญกับโลกของเราเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การคิดค้นแบตเตอรี่ชนิดนี้ขึ้นมาและเริ่มนำมาใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ทำให้เทคโนโลยีการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นอย่างมากมาย ดังเช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่สำรอง แทปเลต และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค โดยที่มีความรุดหน้าอย่างรวดเร็ว 


          สำหรับโครงสร้างของแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนจะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน นั่นคือ ขั้วไฟฟ้า (แคโทดและแอโนด) แผ่นกั้นในแบตเตอรี่ อิเล็กทรอไลต์ และตัวโลหะส่งผ่านกระแส โดยปกติแล้วขั้วแคโทดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ซึ่งมักจะทำจากวัสดุประเภทลิเทียมออกไซด์ เช่น LiCoO2, LiFePO4 และ LiMn2O4 เป็นต้น วัสดุที่ใช้ทำขั้วแอโนดมักจะเป็นวัสดุประเภทคาร์บอน อิเล็กทรอไลต์มักจะเป็นสารละลายอินทรีย์คาร์บอเนต เช่น อิทิลคาร์บอเนต ไดเมทิลคาร์บอเนต และโพรพิลีนคาร์บอเนต เป็นต้น ส่วนวัสดุสำหรับทำแผ่นกั้นในแบตเตอรี่ มักจะเป็นฟิล์มบางของพอลิเมอร์ที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อความร้อน และไม่เกิดปฏิกิริยาเคมีกับสารละลายอิเล็กทรอไลต์ 

 

โครงสร้างของแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน [2] และถ่านลิเทียม-ไอออนยี่ห้อ Panasonic ขนาด 2040 mAh [3]

 
          แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานที่ยอดเยี่ยม มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบา แบตเตอรี่ชนิดนี้สามารถกักเก็บประจุไฟฟ้าได้มาก มีความคงที่ในการจ่ายไฟ มีระยะเวลาในการใช้งานที่นาน และทำการชาร์จซ้ำได้ไว ด้วยข้อเด่นหลาย ๆ อย่างดังที่กล่าว จึงทำให้ในปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าและต้องการกักเก็บพลังงานเกือบทุกชนิดในโลก ใช้แค่แบตเตอรี่ชนิดนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนยังมีข้อด้อยเกี่ยวกับอายุการใช้งาน และความเสื่อมสภาพได้ง่ายเมื่ออยู่ในสภาวะไม่เหมาะสม นอกจากนั้นแบตเตอรี่ชนิดนี้สามารถติดไฟและจุดระเบิดได้ ซึ่งมีความอันตรายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าและผู้ใช้งาน ปัญหานี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในทางปฏิบัติดังที่เคยมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการที่สายการบินได้มีการสั่งห้ามโทรศัพท์มือถือรุ่นหนึ่งไม่ให้นำมาใช้งานภายในตัวเครื่องขณะทำการบิน ด้วยสาเหตุนี้ นักวิจัยจึงได้มีความพยายามในการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนให้มีความสามารถในการป้องกันเหตุเหล่านี้ได้ 


          เมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของจอห์น ฮอพกินส์ (Johns Hopkins Applied Physics Laboratory) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนที่มีความสามารถในการทนการเผาไหม้ มีความแข็งแรง และยืดหยุ่นได้ [4] นักวิจัยได้ใช้สารละลายอิเล็กทรอไลต์ที่มีส่วนผสมของเกลือเป็นส่วนประกอบหลัก โดยการเพิ่มความสามารถในการทนทานของอิเล็กทรอไลต์โดยการผสมร่วมกับสารละลายพอลิเมอร์ นักวิจัยได้ใช้แสงอัลตราไวโอเล็ตในการช่วยให้สารละลายพอลิเมอร์เกิดการเซตตัว ในงานวิจัยนี้นักวิจัยได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้อิเล็กทรอไลต์มีความเสถียรในการใช้งาน เมื่อทำการสร้างเป็นแบตเตอรี่โดยการต่อร่วมกับขั้วไฟฟ้าที่สร้างจาก Li4Ti5O12 ซึ่งจะพบว่าด้วยคุณลักษณะของอิเล็กทรอไลต์ที่ผสมกับพอลิเมอร์ จะทำให้แบตเตอรี่มีลักษณะเหมือนยาง ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง และสามารถตัดได้ นอกจากนั้นแบตเตอรี่ที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ มีความสามารถพิเศษในการทนทานต่อการเผาไหม้ ไม่มีการติดไฟ เมื่อได้รับความร้อนสูง โดยทำการเปรียบเทียบกับสารละลายอิเล็กทรอไลต์แบบทั่วไป อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพที่ได้ในการกักเก็บประจุไฟฟ้าและจ่ายไฟยังไม่สูงมาก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อไป


          จึงสรุปได้ว่า งานวิจัยนี้ได้ค้นพบวิธีการในการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนให้มีความสามารถในการทนทานต่อความร้อนและยืดหยุ่นได้ เพราะฉะนั้นงานวิจัยนี้จึงเป็นงานวิจัยที่สำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดต่อในเชิงปฏิบัติและเชิงพาณิชย์ได้อย่างดี จากตัวอย่างการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดนี้ เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนเป็นสิ่งที่น่าสนใจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในด้านการใช้งานจริงประสิทธิภาพในการกักเก็บและจ่ายพลังงานอาจไม่สำคัญที่สุด โดยความปลอดภัยในการใช้งานของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรมองข้ามเช่นกัน  

 
ความสามารถในการยืดหยุ่น และทนการเผาไหม้ ของแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนชนิดใหม่ [4]


เรียบเรียงโดย

ดร. สายชล ศรีแป้น
คณะวิทยาศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (วิทยาเขตระยอง)


อ้างอิง