การใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนเพื่อเรียนรู้และศึกษาวงจรไฟฟ้า

20-02-2020 อ่าน 2,641
          ในต้นปี ค.ศ. 2020 เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ในภาพข่าวเราจะเห็นบุคลากรทางการแพทย์ตั้งกล้องถ่ายภาพความร้อนบริเวณสนามบินขาเข้า เพื่อวัดอุณหภูมิของร่างกายคนเพื่อคัดกรองคนมีไข้ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัส ซึ่งการคัดกรองแบบนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำ ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Imaging Camera) มีราคาถูกลง มีขนาดเล็กลง สะดวกสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆเช่นสมาทโฟนได้ นอกจากใช้ในทางอุตสาหกรรม การคัดกรองผู้ป่วย มันยังเหมาะสำหรับนำไปใช้ในห้องเรียนเพื่อไว้ศึกษาเนื้อหาวิชาฟิสิกส์อีกด้วย


          Petr Kácovský ได้ตีพิมพ์บทความวิจัยเรื่อง Electric Circuits as Seen by Thermal Imaging Cameras ลงในวารสารวิชาการ The Physics Teacher เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2019 เขาได้นำกล้องถ่ายภาพความร้อนเพื่อมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวงจรไฟฟ้า โดยทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจแนวคิดเรื่องกฎของโอห์ม (Ohm's Law) กฎของเคอร์ชอฟฟ์ (Kirchoff's Law) และความร้อนแบบจูล (Joule heating) ทำให้สามารถเห็นภาพได้อย่างชัดเจน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการเรียน


          ความร้อนแบบจูลตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อดังเจมส์ จูล (James P. Joule มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1818-1889) เขามีผลงานการวิจัยด้านความร้อนและความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนกับงาน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในวิชาอุณหพลศาสตร์ ความร้อนแบบจูลนั้นหมายถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตัวนำไฟฟ้าสร้างให้เกิดความร้อน(และแสงสว่าง) โดยสามารถเขียนเป็นสมการได้เป็น

 
โดยที่ P คือกำลังของความร้อน I คือกระแสไฟฟ้า และ R คือความต้านทานไฟฟ้าตามลำดับ

 
          โดยจูลเป็นคนค้นพบสมการความสัมพันธ์นี้และตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of the Royal Society เมื่อปี ค.ศ. 1840 สิ่งนี้มีความสำคัญมาก ความเข้าใจนี้ช่วยให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสร้างเป็นความร้อนและแสงสว่างให้แก่มนุษย์เราเป็นประโยชน์มหาศาล เช่น เตาปิ้งขนมปัง อุปกรณ์ทำความร้อน เครื่องทำน้ำร้อน โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำอุ่นถ้าปราศจากมันแล้วในฤดูหนาวหลายคนคงไม่อาบน้ำก่อนไปทำงานแน่ รวมถึงหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดา ทั้งหมดต่างก็ใช้หลักการความร้อนแบบจูลทั้งสิ้น

 
ภาพวงจรไฟฟ้าที่ 1 ศึกษาเรื่องความจุความร้อนที่ต่างกันของตัวต้านไฟฟ้าส่งผลอย่างไร
Kácovský, P. (2019). Electric Circuits as Seen by Thermal Imaging Cameras. The Physics Teacher, 57(9), 597-599.

 
          ในงานวิจัยของ Kácovský นำกล้องถ่ายภาพความร้อนถ่ายวงจรไฟฟ้าเพื่อศึกษาเรื่องความจุความร้อนที่ต่างกันของตัวต้านไฟฟ้าส่งผลอย่างไร โดยเมื่อลองต่อตัวต้านทานไฟฟ้าที่มีความต้านทานไฟฟ้าเท่ากัน 2 อันโดยใช้การต่อวงจรไฟฟ้าแบบขนานเข้ากับแหล่งจ่ายพลังงาน จะพบว่ากระแสที่ไหลผ่านตัวต้านทานทั้ง 2 อันเท่ากันและความร้อนก็จะเท่ากัน โดยสามารถสังเกตได้จากกล้องถ่ายภาพความร้อน Kácovský ได้ศึกษาต่อและพบสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นคือ จากภาพวงจรไฟฟ้าที่ 1 เมื่อลองใช้ตัวต้านทานทั้ง 2 อัน R1,R2 มีค่าความต้านทานไฟฟ้าเท่ากันคือ 22 โอห์ม แต่ R2 มีขนาดใหญ่กว่า R1และถ่ายภาพจากกล้องถ่ายภาพความร้อนหลังจากต่อวงจรเสร็จ 10 และ 20 วินาทีตามลำดับพบว่า อุณหภูมิของตัวต้านทานความร้อน R1,R2  มีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าเป็นผลมาจาก R2 มีค่าความจุความร้อนสูงกว่าทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิช้ากว่า R1


          การใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนเพื่อเรียนรู้และศึกษาวงจรไฟฟ้ายังสามารถช่วยให้เราเข้าใจกฎของเคอร์ชอฟฟ์ (Kirchoff's Law) ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น กฎของเคอร์ชอฟฟ์สามารถสรุปได้เป็นกฎที่สำคัญ 2 ข้อคือกฎกระแสไฟฟ้า (Kirchhoff's current law) สรุปได้ว่ากระแสไฟฟ้าที่ไหลเข้าจุดใดจุดหนึ่งใน วงจรไฟฟ้าจะเท่ากับกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกจากจุดนั้น และกฎแรงดันไฟฟ้า (Kirchhoff's voltage law) สรุปได้ว่าผลบวกของแรงดันไฟฟ้าที่จ่ายให้ในวงจรไฟฟ้าปิดจะมีค่าเท่ากับผลบวกของแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมความต้านทานในวงจรไฟฟ้าปิดนั้น 

 
ภาพวงจรไฟฟ้าที่ 2 ศึกษาเรื่องกฎของเคอร์ชอฟฟ์
Kácovský, P. (2019). Electric Circuits as Seen by Thermal Imaging Cameras. The Physics Teacher, 57(9), 597-599.


          เราลองต่อวงจรตามภาพวงจรไฟฟ้าที่ 2 โดยกำหนดให้ R1 = 12 โอห์ม R2 = 12 โอห์ม R3 = 39 โอห์ม U1 = U2 = 4.5 โวลท์ ตามลำดับเมื่อเราใช้กฎของเคอร์ชอฟฟ์คำนวณตามทฤษฎีแล้วจะพบว่ากำลังของ P(R1) = 0.83 วัตต์ P(R2) = 0.15 วัตต์ P(R3) = 0.88 วัตต์ ตามลำดับ ซึ่งเมื่อใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนถ่ายดูวงจรหลังจากเชื่อมวงจร 45 วินาที จะพบว่าอุณหภูมิของตัวต้านทานแต่ละตัวจะสอดคล้องกับผลการคำนวณในการทฤษฎี

 
     งานวิจัยชิ้นนี้แม้ไม่ได้มีอะไรใหม่มาก แต่เหมาะสำหรับครูและอาจารย์ระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษานำไอเดียจากงานวิจัยชิ้นนี้นำไปสร้างเป็นชุดการทดลอง เพราะจะทำให้ผู้เรียนได้ศึกษาได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจแนวคิดเรื่องกฎของเคอร์ชอฟฟ์และความร้อนแบบจูลผ่านทางกล้องถ่ายภาพความร้อน เป็นการทดลองที่น่าสนุกน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นับว่าเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (สมาทโฟนและกล้องถ่ายภาพความร้อน ในงานวิจัยนี้ใช้รุ่น FLIR i7) มาสร้างประโยชน์ในการเรียนการสอน

 
เรียบเรียงโดย

ณัฐพล โชติศรีศุภรัตน์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


อ้างอิง