การชนของวัตถุจากอวกาศเมื่อราว 12,800 ปีก่อน
ที่มา JENNIFER RICE, COMETRESEARCHGROUP.ORG
หลายปีก่อนมีสารคดีชุดหนึ่งที่นำเสนอทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีพื้นที่บางแห่งบนโลกที่เต็มไปด้วยเศษหินหลอมเหลวขนาดเล็กที่เรียกว่าอุลกมณี (Tektites) รวมถึงมีเม็ดทรายบนพื้นดินถูกแผดเผาด้วยความร้อนสูงจนกลายสภาพเป็นผลึกแก้วขนาดเล็ก (Vitrification) กระจัดกระจายอยู่ โดยสารคดีดังกล่าวอ้างว่า “ระเบิดนิวเคลียร์ของมนุษย์ต่างดาวยุคโบราณ” คือสาเหตุของการเกิดอุลกมณีและผลึกแก้วนั้น! อย่างไรก็ตาม แม้ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาวยุคโบราณจะเป็นเรื่องที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้มาก แต่เมื่อถอดจินตนาการอันเลื่อนลอยออกไปแล้ววิเคราะห์หลักฐานด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็จะพบว่าความจริงก็น่าตื่นเต้นไม่แพ้เรื่องแต่ง ดังเช่นเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าต่อไปนี้
เมื่อหลายปีก่อน นักวิทยาศาสตร์จาก University of Edinburgh ได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีและค้นพบหลักฐานที่อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเคยมีอุกกาบาต (Meteorite) ซึ่งอาจเป็นดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) หรือดาวหาง (Comet) พุ่งเข้าชนโลกเมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อนคริสตกาล อาทิ การแปลความหมายทางสัญลักษณ์วิทยา (Symbology) บนเสาหินแกะสลักแห่ง Göbekli Tepe ซึ่งถูกค้นพบบริเวณตอนใต้ของประเทศตุรกีที่แสดงให้เห็น “เหตุการณ์บางอย่าง” ที่ส่งผลให้มนุษย์และสัตว์จำนวนมากในยุคนั้นล้มตาย!
เสาหินสลักรูปนกแร้งแห่ง Göbekli Tepe
ที่มา Martin B. Sweatman และ Dimitrios Tsikritsis
รูปสลักบนเสาหินไม่ใช่หลักฐานเพียงอย่างเดียว เพราะข้อมูลด้านภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา (Paleoclimatology) จากแกนน้ำแข็ง (Ice Core) ของกรีนแลนด์ที่ได้จากการวิเคราะห์สัดส่วนไอโซโทปของออกซิเจน O-18 ต่อ O-16 ก็สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือเมื่อประมาณ 10,950 ถึง 10,890 ปีก่อนคริสตกาลได้มี “เหตุการณ์บางอย่าง” เกิดขึ้นและส่งผลให้โลกในยุคนั้นเย็นลงเป็นระยะเวลาประมาณ 1,000 ปี แล้วจึงอุ่นขึ้นในภายหลัง ซึ่งการเย็นลงของโลกอาจทำให้พืชพรรณในธรรมชาติลดจำนวนลงจนนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นสังคมกลุ่มใหญ่ของมนุษย์เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการล่าสัตว์และหาของป่ามาเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เรียกกันว่าการปฏิวัติเกษตรกรรม (Agricultural Revolution หรือ Neolithic Civilization)
วิทยาศาสตร์กระแสหลักในปัจจุบันเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในครั้งนั้นเกิดจากกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Conveyor) เปลี่ยนแปลงไป สมมติฐานนี้มีชื่อว่า Younger Dryas Hypothesis ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามดอกไม้ที่มีชื่อว่า Dryas octopetala ที่มักเบ่งบานในช่วงฤดูหนาวของยุโรป โดยมีหลักฐานที่แสดงเส้นแบ่งระหว่างก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแบบฉับพลันที่เรียกว่า Younger Dryas boundary layer (YDB)
ดอก Dryas octopetala
ที่มา NOAA
นักวิจัยเชื่อว่า Abu Hureyra เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งแรกที่แสดงหลักฐานว่าถูกทำลายโดยดาวหาง โดยดาวหางดังกล่าวได้ระเบิดในบรรยากาศ แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (Cometary Debris) และส่งคลื่นกระแทก (Airburst) ออกมาหลายครั้ง ก่อนเกิดเป็นบริเวณโปรยปรายของเศษวัตถุ (Strewnfield) ที่ตกสู่พื้นดินเป็นอาณาบริเวณกว้างกว่า 14,000 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ผลกระทบของการพุ่งชนในครั้งนั้นส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) ที่เรียกว่า Pleistocene Megafauna อย่างแมมมอธ หมียักษ์หน้าสั้น ม้าอเมริกัน อูฐ รวมถึงชนพื้นเมืองอเมริกันยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Clovis Culture) ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
การกระจายตัวของวัตถุหลักฐาน
ที่มา UCSB
การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรไม่ใช่สมมติฐานเพียงอย่างเดียว เพราะมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายกลุ่มที่เชื่อว่าภัยพิบัติในครั้งนั้นเกิดจากภูเขาไฟระเบิด (Eruption Hypothesis) การระเบิดของซูเปอร์โนวาในอวกาศ (Supernova Hypothesis) รวมถึงการพุ่งชนโดยวัตถุจากอวกาศ (Impact Hypothesis) โดยสมมติฐานการพุ่งชนของวัตถุจากอวกาศมีชื่อว่า Younger Dryas Impact Hypothesis หรือ Clovis Comet Hypothesis แต่สมมติฐานสามอย่างหลังยังอยู่ในระดับรอง เพราะตลอดหลายสิบปีมานี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับสมมติฐานดังกล่าว กระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีงานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports โดย James Kennett และทีมวิจัยจาก University of California-Santa Barbara งานวิจัยดังกล่าวได้แสดงหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับภัยพิบัติจากห้วงอวกาศเมื่อราว 12,800 ปีก่อนที่เกิดขึ้นบริเวณ Abu Hureyra ทางตอนเหนือของประเทศซีเรียซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านของมนุษย์ยุคปฏิวัติเกษตรกรรม โดยบริเวณดังกล่าวมีการค้นพบเมล็ดพืชที่กระเด็นกระดอนแล้วถูกฝังเอาไว้ในวัสดุก่อสร้างที่หลอมละลาย รวมถึงกระดูกสัตว์ที่ถูกแผดเผาด้วยความร้อนสูงจนกลายเป็นแก้ว ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าเศษวัตถุที่กระจัดกระจายอยู่บนพื้นดินและกลายเป็นแก้วไม่น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ อีกทั้งมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะเกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า หรือภูเขาไฟระเบิด ดังนั้นผลึกแก้วที่ค้นพบจึงน่าจะเกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่รวดเร็ว ทรงพลัง และรุนแรง
แหล่งโบราณคดี Abu Hureyra
ที่มา Scientific Reports (2020)
ผลการวิเคราะห์ส่วนประกอบ รูปร่าง โครงสร้าง การก่อตัว สมบัติทางแม่เหล็ก และส่วนประกอบของน้ำในแก้วด้วยเทคนิคทางธรณีเคมีพบว่ามีแร่โครเมียม เหล็ก นิกเกิล ซัลไฟด์ ไทเทเนียม แพลตินัม และอิริเดียมปะปนอยู่ เมื่อผนวกรวมกับผลการสำรวจเมื่อปี ค.ศ.2012 และพื้นที่อีกกว่า 30 แห่งในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และบางส่วนของตะวันออกกลางที่มีการค้นพบชั้นตะกอนสีดำ (Black Mat) ที่อุดมไปด้วยธาตุคาร์บอน เพชรขนาดเล็ก แพลทินัม และเศษโลหะทรงกลมที่เกิดจากการหลอมละลายด้วยความร้อน
หลักฐานที่คล้ายคลึงกันถูกค้นพบในธารน้ำแข็ง Hiawatha ของกรีนแลนด์ รวมถึงบริเวณ Pilauco ทางตอนใต้ของประเทศชิลี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำว่ามีวัตถุจากอวกาศพุ่งเข้าชนโลกในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์จากการล่าสัตว์หาของป่าไปสู่สังคมเกษตรกรรม
รูปร่างและส่วนประกอบของวัตถุขนาดเล็กที่พบในสถานที่ขุดค้น
ที่มา Scientific Reports (2020)
อย่างไรก็ตาม แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีส่วนใหญ่ในพื้นที่ Abu Hureyra ได้จมอยู่ในทะเลสาบ Assad เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อน Taqba เพื่อกั้นแม่น้ำ Euphrates เมื่อปี ค.ศ.1970 ทำให้หลักฐานที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันมีจำนวนน้อยนิดเท่านั้น แต่หลักฐานมากมายที่ถูกค้นพบก็ทำให้สมมติฐาน Younger Dryas Impact Hypothesis เริ่มมีน้ำหนักและได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งเราต้องติดตามกันต่อไป
บทความโดย
เรียบเรียง - สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แปล - สิรินธร กิจนีชีว์
อ้างอิง