ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2019 ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประจำกล้องโทรทัศน์ขอบฟ้าเหตุการณ์ (The Event Horizon Telescope: EHT) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของกล้องโทรทัศน์วิทยุภาคพื้น (Earth-based radio telescope) ได้เผยแพร่ภาพของวงแหวนแสงของหลุมดำมวลยิ่งยวด (supermassive black hole) แม้ว่าวงแหวนแสงจะไม่ได้เปิดเผยหน้าตาของหลุมดำโดยตรง แต่ก็นับเป็นครั้งแรกที่สามารถถ่ายภาพของหลุมดำได้ในระยะใกล้กับขอบฟ้าเหตุการณ์มากขนาดนี้ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการศึกษาถึง ฟิสิกส์ของหลุมดำในระดับที่ ความโน้มถ่วงมีความเข้มสูง (strong gravity regime) จากรูปร่างของวงแหวนแสง นักวิจัยสามารถประเมิณถึงมวลของหลุมดำได้ ยิ่งไปกว่านั้นการตรวจสอบลักษณะของวงแหวนแสงรวมไปถึงแสงที่เปล่งออกมาโดยละเอียดอาจจะสามารถช่วยให้นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เรียนรู้เกี่ยวกับ การหมุน (spin) ของหลุมดำได้อีกด้วย ซึ่งการศึกษาถึงการหมุนของหลุมดำผ่านทางวงแหวนแสงถูกนำเสนอโดย Alex Lupsasca และเพื่อนร่วมงาน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ท (Harvard Univesity) และถูกเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Physical review D
รูปที่ 1: ภาพถ่ายหลุมดำ (ภาพจาก Event Horizon Telescope Collaboration)
ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่าตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (general relativity) หลุมดำนั้นจัดว่าเป็นวัตถุที่เรียบง่ายอย่างน่าเหลือเชื่อ กล่าวคือ หลุมดำทุกชนิดในสัมพัทธภาพทั่วไปสามารถถูกบรรยายได้ด้วยปริมาณพื้นฐานเพียง 3 ตัวนั้นคือ มวล การหมุน (รอบตัวเอง) และประจุไฟฟ้า หลุมดำจะไม่สามารถครอบครองปริมาณทางฟิสิกส์อื่นๆนอกเหนือไปจากนี้ได้ ทฤษฎีบทดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ทฤษฎีบทหลุมดำไม่มีขน (black hole no-hair theorem) (ถ้ามีโอกาสจะขอกล่าวถึงในบทความต่อๆไป) นักฟิสิกส์สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติทางฟิสิกส์อื่นๆของหลุมดำ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ผิว อุณหภูมิ เอนโทรปี ผ่านทางปริมาณทั้งสามที่กล่าวมานั้น ทำให้ มวล การหมุน และประจุไฟฟ้า เป็นปริมาณที่นักฟิสิกส์พยายามจะค้นหาหรือทำการวัดเป็นอย่างแรกๆ อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อกันว่าหลุมดำทางดาราศาสตร์นั้นจะมีความเป็นกลางทางไฟฟ้า ทำให้นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์มุ่งเน้นไปที่การวัดมวลและการหมุนของหลุมดำเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่หลุมดำแบบมีประจุไฟฟ้าจะได้รับความสนใจในเชิงทฤษฎีมากกว่าในเชิงสังเกตการณ์
โดยทั่วไปวงแหวนแสงของหลุมดำจะประกอบไปด้วยโฟตอน (อนุภาคแสง) ที่โคจรใกล้กับขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ ก่อนที่จะหนีออกมาจากแรงโน้มถ่วงของหลุมดำได้ จากผลการศึกษาก่อนหน้าของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ทและผู้ร่วมงานจากสถาบันอื่นๆ ได้ค้นพบว่า วงแหวนแสงของหลุมดำนั้นประกอบไปด้วย วงแหวนแสงที่มีขนาดเล็กเและสว่างน้อยลงไปเรื่อยๆ (ดูภาพประกอบ 2) โดยที่วงแหวนแสงวงที่ใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดนั้นประกอบมาจากโฟตอนที่ถูกกระเจิงออกมาโดยหลุมดำ ขณะเดียวกันวงแหวนที่เล็กและสว่างน้อยกว่า จะประกอบมาจากโฟตอนที่โคจรรอบหลุมดำด้วยจำนวน n/2 รอบ ก่อนที่จะเคลื่อนที่มาถึงกล้องโทรทัศน์บนโลก โดยที่ n บ่งบอกถึง ลำดับของวงแหวนย่อย (subring) ยกตัวอย่าง 2nd subring จะประกอบมาจากโฟตอนที่โคจรรอบหลุมดำเป็นจำนวนหนึ่งรอบเป็นต้น
รูปที่ 2: (ซ้าย) โครงสร้างวงแหวนแสงของหลุมดำ (ขวา) วงแหวนย่อยและโพลาไรเซชั่น (ภาพต้นแบบจาก arXiv:2001.28750)
จากการวิจัยชิ้นล่าสุด Alex Lupsasca และทีมนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์วงแหวนแสงของหลุมดำอย่างละเอียด โดยเน้นไปที่โพลาไรเซชั่น (polarization) ของวงแหวนแสง จากการคำนวณพวกเขาพบว่าแสงในวงแหวนย่อยเดียวกันจะมีโพลาไรเซชั่นของแสงที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามในวงแหวนลำดับถัดไปโพลาไรเซชั่นก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ใจความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้คือ ความแตกต่างของโพลาไรเซชั่นระหว่างวงแหวนย่อยแต่ละวงจะขึ้นอยู่กับความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของหลุมดำเท่านั้น ด้วยองค์ความรู้นี้หากนักฟิสิกส์สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของโพลาไรเซชั่นของวงแหวนแสงได้ ก็จะสามารถคำนวณอัตราการหมุนรอบตัวเองของหลุมดำได้ด้วยความแม่นยำมากกว่าวิธีอื่นๆที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
Alex Lupsasca กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการประมาณความเร็วการหมุนรอบตัวเองของหลุมดำสามารถทำได้จาก การวัดรังสีเอ็กซ์ (x-ray) รอบหลุมดำ ซึ่งสามารถใช้ได้กับหลุมดำเพียงไม่กี่ดวงเท่านั้น อีกทั้งการประมาณยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากเทคนิคดังกล่าวมีการใช้สมมติฐานซึ่งยากในการพิสูจน์เกี่ยวกับสสารที่อยู่รอบๆหลุมดำ
หมายเหตุ: Alex และทีมคาดการณ์ว่าการอัพเกรด EHT ในอนาคตจะทำให้นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์สามารถตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงโพลาไรเซชั่นของวงแหวนย่อยของหลุมดำได้
รูปที่ 3: ภาพจำลองแนวทางเดินของแสงที่โคจรรอบหลุมดำก่อนที่จะหนีออกมาสู่กล้องโทรทัศน์
(ภาพจาก Center of Astrophysics, Harvard & Smithsonian)
บทความจาก:
https://physics.aps.org/articles/v13/s50 (เผยแพร่ วันที่ 8 เมษายน 2020)
บทความโดย
สุภัคชัย พงศ์เลิศสกุล
เอกสารอ้างอิง
- https://eventhorizontelescope.org/ (online access: 17-April-2020)
- M. D. Johnson, A. Lupsasca, A. Strominger et.al., Universal interferometric signatures of a black hole’s photon ring, Science Advances, Vol. 6, no. 12 (2020) (online access: 17-April-2020)
- E. Himwich, M. D. Johnson, A. Lupsasca and A. Strominger, Universal polarimetric signatures of the black hole photon ring, Phys. Rev. D 101, 084020 (2020) (online access: 17-April-2020)