ปลาวาฬ ภูเขาไฟ และบ้านผีสิง เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

29-06-2020 อ่าน 4,278
 
ภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดฟองอากาศจากภูเขาไฟใต้ทะเล
ที่มา Nature Geoscience

 
          หลังจากอ่านชื่อบทความจบ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะแย้งว่า “วาฬ” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ใช่ปลาสักหน่อย ดังนั้นต้องเรียกว่า “วาฬ” ไม่ใช่ “ปลาวาฬ” ถึงจะถูก อย่างไรก็ตาม สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ให้ข้อมูลว่า “ปลาวาฬ” มาจากคำว่า Walvisc ซึ่งเป็นภาษาดัชต์สมัยกลาง โดยคำว่า Visc ตรงกับคำว่า Fish ในภาษาอังกฤษ ดังนั้นปลาวาฬจึงเป็นคำเก่าที่แสดงการตีความรูปลักษณ์ของสัตว์โดยคนสมัยก่อน แม้จะไม่ถูกต้องตามหลักชีววิทยา แต่หลายคนก็คงคุ้นชินกับคำว่าปลาวาฬ ผู้เขียนจึงขอเรียกว่าปลาวาฬด้วยแล้วกัน เราจะพักเรื่องภาษาศาสตร์เอาไว้ก่อนแล้วกลับมาที่เรื่องฟิสิกส์ดีกว่า จากชื่อบทความ ผู้อ่านบางท่านอาจจะพอเดาออกว่าผู้เขียนกำลังจะเล่าเรื่องอะไร แต่ถ้าใครยังเดาไม่ออก ผู้เขียนขอเฉลยว่าปลาวาฬ ภูเขาไฟ และบ้านผีสิง เกี่ยวข้องกับ “เสียงที่หูมนุษย์ไม่ได้ยิน” ซึ่งจะขอขยายความดังต่อไปนี้


          ทุกท่านคงทราบว่าปลาวาฬ ปลาโลมา ค้างคาว และเรือดำน้ำอาศัยคลื่นอัลตราซาวด์หรืออัลตราโซนิก (Ultrasound หรือ Ultrasonic) ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงกว่า 20,000 เฮิร์ตซ์ในการสร้างภาพและหาตำแหน่งของวัตถุ (Echolocation) ซึ่งคลื่นอัลตราซาวด์นี้ถูกนำมาใช้ในการตรวจหาการเจริญเติบโต ความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย รวมถึงเพศของทารกในครรภ์ โดยเครื่องอัลตราซาวด์จะปล่อยความดันออกมาเป็นพัลส์ (Pulse) อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดคลื่นความถี่สูงออกมาจากหัวทรานสดิวเซอร์ (Transducer Probe) ซึ่งทำจากวัสดุเพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) เมื่อคลื่นเดินทางเข้าสู่ร่างกายก็จะกระทบกับรอยต่อของเนื้อเยื่อ อวัยวะภายใน และกระดูก คลื่นบางส่วนจะเดินทางต่อไป แต่คลื่นบางส่วนจะสะท้อนกลับเข้าสู่หัวทรานสดิวเซอร์ โดยปริมาณคลื่นที่สะท้อนกลับจะขึ้นอยู่กับค่า Acoustic Impedance ซึ่งเกิดจากความหนาแน่นของวัสดุคูณกับความเร็วของคลื่น หากรอยต่อของอวัยวะในร่างกายมีผลต่างของค่าดังกล่าวมากก็จะเกิดการสะท้อนกลับมาก จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะนำข้อมูลของคลื่นที่สะท้อนกลับมาประมวลและแปรผลออกมาเป็นภาพ 2 หรือ 3 มิติให้เราได้เห็นผ่านจอแสดงภาพ และนี่คือประโยชน์ของคลื่นความถี่สูงที่หูมนุษย์ไม่ได้ยิน



ภาพ 3 มิติจากเครื่องอัลตราซาวด์
ที่มา Philips Research

 
          ในเมื่อมนุษย์สามารถนำคลื่นเสียงความถี่สูงมาใช้ประโยชน์ได้ คลื่นเสียงที่มีความถี่ต่ำกว่า 20 เฮิร์ตซ์อย่างคลื่นอินฟราซาวด์ (Infrasound) ก็ย่อมนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน เพราะเมื่อภูเขาไฟระเบิดจะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแรงสั่นสะเทือนลงสู่พื้นดินและแรงอัดอากาศขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่ภายหลังนักภูเขาไฟวิทยา (Volcanologist) ก็พบว่าภูเขาไฟได้ส่งคลื่นอินฟราซาวด์ออกมาคล้ายเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ แต่การตรวจจับคลื่นอินฟราซาวด์จากภูเขาไฟไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เพราะภูเขาไฟแต่ละลูกจะมีการปลดปล่อยคลื่นอินฟราซาวด์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามและวิเคราะห์ผลในระยะยาว
 
การปลดปล่อยคลื่นอินฟราซาวด์ของภูเขาไฟ
ที่มา Alaska Volcano Observatory



สัญญาณคลื่นอินฟราซาวด์ที่ตรวจจับได้จากภูเขาไฟ Cleveland เทียบกับสัญญาณคลื่นไหวสะเทือน เมื่อวันที่ 21/7/2015
ที่มา Lyons, John

 
          การใช้ประโยชน์จากคลื่นอินฟราซาวด์ในการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของภูเขาไฟสามารถใช้ในทะเลได้ด้วย ย้อนกลับไปเมื่อราว 100 ปีก่อน กะลาสีที่เดินเรือรอบเกาะ Aleutian เคยพบเห็นปรากฏการณ์ประหลาดที่ผิวน้ำทะเลบวมขึ้นคล้ายโดมขนาดใหญ่ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการตรวจสอบปรากฏการณ์ดังกล่าวโดยใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา คณะวิจัยจาก U.S. Geological Survey และ University of Alaska ได้เปิดเผยว่าขนาดของฟองอากาศที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟมีความสัมพันธ์กับความถี่ของคลื่นอินฟราซาวด์ ทำให้พวกเขาสามารถคำนวณขนาดของฟองอากาศจากการปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเลใกล้กับเกาะ Aleutian ได้โดยใช้เซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ใต้ทะเล ซึ่งบางครั้งฟองอากาศเหล่านี้สามารถขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ถึง 440 เมตรจนดันน้ำทะเลให้บวมขึ้นได้!


          อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคลื่นอินฟราซาวด์คือบ้านผีสิง! แม้จะออกแนวเรื่องลี้ลับ แต่ความจริงแล้ววงการวิทยาศาสตร์ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่า “เฮี้ยน” กับคลื่นอินฟราซาวด์มานานกว่า 20 ปีแล้ว เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1998 ขณะนั้นวิศวกรชื่อ Vic Tandy กำลังทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งที่ร่ำลือว่าผีดุสุดๆ วันหนึ่งขณะทำงานอยู่ Tandy ก็รู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด เย็นวาบ คลื่นไส้ เห็นภาพหลอน และพบว่าสิ่งของบางชิ้นในห้องเกิดการสั่นน้อยๆ ขึ้นมาเองอย่างไม่ทราบสาเหตุ โชคดีที่เขาไม่ได้กลัวจนเผ่นหนี แต่เขาได้ตรวจสอบที่มาของแรงสั่นสะเทือนและพบว่าพัดลมตัวหนึ่งที่กำลังทำงานอยู่คือต้นตอของแรงสั่นสะเทือนนั้น เมื่อเขาตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่าการสั่นสะเทือนของพัดลมสามารถส่งคลื่นอินฟราซาวด์ออกมาได้และยังพบอีกว่าคลื่นนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความรู้สึกไม่สบายตัวของมนุษย์ จากนั้นเขาจึงตีพิมพ์การค้นพบลงในวารสาร Society for Psychical Research โดยตั้งชื่อบทความว่า The Ghost in the Machine การค้นพบของ Tandy จึงเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญที่เปิดโปงปรากฏการณ์ลี้ลับในสถานที่สุดเฮี้ยนว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถใช้ไขปริศนาที่ดูคล้ายเรื่องเหนือธรรมชาติได้
 


ช้างใช้คลื่นอินฟราซาวด์ในการสื่อสารระหว่างกัน
ที่มา Elephant Listening Project

 
          ทั้งเสียงความถี่สูงและเสียงความถี่ต่ำยังมีแง่มุมที่น่าสนใจอีกมากมายจนผู้เขียนนำมาเล่าได้ไม่หมด ยกตัวอย่างเช่น ปลาวาฬ ช้าง ฮิปโปโปเตมัส แรด ยีราฟ จระเข้ และอื่นๆ สามารถใช้คลื่นอินฟราซาวด์ในการติดต่อสื่อสารกันได้ นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้คลื่นอินฟราซาวด์ในการตรวจจับหิมะถล่ม ดินถล่ม แผ่นดินไหว อุกกาบาตตก ฟ้าผ่า พายุหมุน และการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ได้ รวมถึงผู้กำกับภาพยนตร์และนักประพันธ์เพลงหลายท่านก็ตั้งใจใส่คลื่นอินฟราซาวด์ลงในผลงานของตนเองเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมและผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมกับภาพยนตร์หรือเพลงนั้นๆ มากขึ้นอีกด้วย เห็นไหมครับว่า “เสียงที่หูมนุษย์ไม่ได้ยิน” มีเรื่องราวสนุกๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากขนาดไหน

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อ้างอิง