สะพานแขวน (Suspension bridge) มีหลักการทำงานอย่างไร

24-07-2020 อ่าน 30,311


สะพานโกลเดนเกต (Golden Gate Bridge) เป็นหนึ่งในสะพานแขวนที่มีชื่อเสียงที่สุด
เครดิต https://www.history.com/topics/landmarks/golden-gate-bridge

 
          สิ่งก่อสร้างต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น เราอาจจะเห็นจนชินเป็นเรื่องปรกติ แต่แท้จริงแล้วทุกอย่างล้วนมีการออกแบบทางวิศวกรรมอย่างชาญฉลาด ถ้าเราพิจารณาดีๆสิ่งก่อสร้างต่างๆล้วนน่าสนใจมาก อย่างเช่นสะพาน สะพานคือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ข้ามอุปสรรคต่างๆเช่นหุบเหวหรือแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้คนเดินทางหรือใช้ยานพาหนะข้ามไป ในประเทศไทยมีสะพานที่สวยงามมากหลายแห่งเช่น สะพานภูมิพล 1 และ 2 หรือสะพานพระราม 8 เป็นต้น สะพานที่โด่งดังมากในโลกแห่งหนึ่งชื่อว่าสะพานโกลเดนเกต (Golden Gate Bridge) ซึ่งสะพานที่มีรูปร่างคล้ายๆกันนี้เราเรียกมันว่าสะพานแขวน นอกจากความสวยงามของสะพานนี้แล้ว รูปทรงการออกแบบนี้ยังช่วยให้มันสามารถตั้งอยู่ได้ยาวนานไม่ถล่มหรือพังลงมา แต่ว่าสะพานแบบนี้มีหลักการทำงานอย่างไร


          เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องนี้เราต้องเข้าใจนิยามศัพท์เฉพาะในทางฟิสิกส์ก่อนที่เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสะพานนี้คือเรื่องของแรงตึง (tension) และแรงบีบอัด (compression) เมื่อเชือกหรือสายเคเบิลผูกติดกับวัตถุต่างๆและเราออกแรงดึงให้ตึง เส้นเชือกนี้จะดึงวัตถุด้วยแรง \(\vec{T}\) ในทิศทางพุ่งออกจากวัตถุและตามกฎข้อที่ 3 ของนิวตันก็จะมีแรงขนาดที่เท่ากันจากฝั่งตรงข้ามของวัตถุด้วย แรงนี้เรียกว่าแรงตึงเพราะเส้นเชือกนั้นตึง ส่วนแรงบีบอัดนั้นหมายถึงเมื่อมีแรงกดไปยังวัตถุ โดยสมมติให้มีแรงกดจากด้านบนกดมายังวัตถุบนพื้น ตามกฎข้อที่ 3 ของนิวตันก็จะมีแรงขนาดเท่ากันจากพื้นกระทำต่อวัตถุด้วย เพื่อให้เห็นภาพอย่างง่ายๆเช่นในระบบสปริงเมื่อเราออกแรงบีบอัดจะทำให้สปริงนั้นหดสั้นลง เมื่อเราออกแรงดึงสปริงจะทำให้เกิดแรงตึงและสปริงขยายใหญ่ขึ้น ในการสร้างสะพานนั้นจะต้องพยายามทำให้แรงทั้งสองนั้นสมดุลกันเพื่อที่จะให้สะพานนั้นแข็งแรงไม่พังทลายลงมา



หลักการทำงานของสะพานแขวน
เครดิต https://suspensionbridges1.weebly.com/blog/forces-acting-on-a-suspension-bridge

 
          สะพานแขวนนั้นเป็นสะพานชนิดหนึ่งที่นิยมสร้างกันมากเพราะเมื่อสร้างเพื่อข้ามแม่น้ำจะใช้เสารับน้ำหนักน้อย น้อยสุดเพียงแค่ 2 ต้นทำให้ไม่กีดขวางการจราจรทางเรือ สะพานแขวนนั้นมีหลักการคล้ายๆกับสะพานอีกชนิดหนึ่งคือสะพานขึง (cable-stayed bridge) ซึ่งสามารถพบเห็นในประเทศไทยได้มากกว่า อาทิเช่นสะพานพระราม 8 จัดเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรเสาเดี่ยว 3 ระนาบที่ยาวที่สุดในโลก


          สะพานแขวนโดยปรกติจะมีเสารับน้ำหนักทำหน้าที่รับน้ำหนักโครงสร้างของสะพานโดยจะมีสายเคเบิลหลักพาดระหว่างเสารับน้ำหนักและเชื่อมไปยังฐานทั้งสองฝั่งของสะพานทำหน้าที่ขึงตึงสายเคเบิล และมีสายเคเบิลในแนวตั้งจำนวนหลายสายยึดระหว่างโครงสร้างของสะพานไปยังสายเคเบิลหลัก สะพานแขวนนั้นถูกแขวนโดยสายเคเบิลหลักกับเสารับน้ำหนักทั้ง 2 เสา รับน้ำหนักส่วนใหญ่ของโครงสร้างสะพาน น้ำหนักของโครงสร้างสะพานจะดึงสายเคเบิลในแนวตั้งจำนวนหลายสายตลอดความยาวของสะพาน โดยแรงดึงที่เกิดขึ้นในสายเคเบิลจะถูกส่งไปยังฐานทั้งสองฝั่งของสะพานที่มักทำมาจากวัตถุที่มีมวลมากและมีความแข็งแรงสูง เพราะเช่นนี้เองสะพานแขวนจึงมีจำนวนเสารับน้ำหนักน้อยกว่าสะพานแบบปรกติมาก ทำให้สะดวกในการสัญจรทางน้ำใต้สะพาน



แรงที่เกิดในสายเคเบิลหลัก สายเคเบิลในแนวตั้ง เสารับน้ำหนักและฐานทั้งสองฝั่ง
เครดิต https://www.scimath.org/lesson-physics/item/7296-vs

 
          ยังมีสะพานอีกหลายชนิด เช่นสะพานแบบโค้ง (arch bridge) ซึ่งนิยมสร้างมากในสมัยโรมันสะพานแบบนี้มีความพิเศษตรงที่สามารถนำอิฐหรือหินมาต่อกันเป็นทรงโค้งโดยไม่ต้องใช้วัสดุเชื่อมประสานเลย สะพานแบบคาน (beam bridge) หรือสะพานแบบปรกติที่ตั้งใช้เสารับน้ำหนักจำนวนมากสร้างเป็นสะพาน 



สะพานแบบโค้ง (arch bridge)
เครดิต https://www.ancient.eu/Roman_Engineering/



สะพานแบบคาน (beam bridge) จะเห็นว่าจะต้องใช้เสารับน้ำหนักจำนวนมากกว่าสะพานแขวนหรือสะพานขึงมาก
เครดิต https://connectusfund.org/5-advantages-and-disadvantages-of-beam-bridges



สะพานขึง (cable-stayed bridge) สะพานพระราม 8 เปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 2002 หรือ พ.ศ. 2545 เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการคมนาคมทางบกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครของกรุงเทพมหานคร
เครดิต https://www.baania.com/ 

 
เมื่อลองขับรถไปลองสังเกตดูโครงสร้างทางวิศวกรรมของสะพานแบบต่างๆจะพบว่าน่าสนใจมาก
 
เรียบเรียงโดย
 
ณัฐพล โชติศรีศุภรัตน์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


อ้างอิง