ยุคน้ำแข็งน้อย การล่าแม่มด และไวโอลินของสตราดิวารี เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

02-12-2020 อ่าน 4,925

ยุคน้ำแข็งน้อยส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคกลาง
ที่มา https://www.historyextra.com/period/victorian/frozen-little-ice-age-britain-thames-freeze-when/

 
          ปัจจุบัน แก๊สเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ในบรรยากาศโลกมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กำลังคุกคามสิ่งมีชีวิตและระบบพลวัตของโลก (Earth System Dynamics) ในหลายๆ บทความที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยกล่าวถึงกลไกและสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไปแล้ว แต่ยังไม่มีบทความไหนเลยที่ผู้เขียนผูกเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะเล่าว่ายุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) การล่าแม่มด (Witch-Hunt) และไวโอลินของสตราดิวารี (Stradivari Violin) เกี่ยวข้องกันอย่างไร

 
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
 
           1.สาเหตุจากบนโลก (Terrestrial Cause) เช่น การเพิ่มขึ้นของแก๊สเรือนกระจก การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก การระเบิดของภูเขาไฟ การแผ่ขยายของธารน้ำแข็ง และการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร

           2.สาเหตุทางดาราศาสตร์ (Astronomical Cause) เช่น การพุ่งชนของอุกกาบาต การเปลี่ยนตำแหน่งและวงโคจรของโลกตามวัฏจักรมิลานโควิทช์ (Milankovitch Cycles) ปริมาณของสสารระหว่างดวงดาว (Interstellar Medium) การเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงอาทิตย์ และการระเบิดของซูเปอร์โนวา (Supernova)


 
วัฏจักรมิลานโควิทช์
ที่มา https://skepticalscience.com/print.php?r=33

 
          สาเหตุแต่ละอย่างสามารถทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระดับที่แตกต่างกันและมีระยะเวลาที่แตกต่างกันด้วย เช่น การระเบิดของซูเปอร์โนวาใกล้โลกสามารถทำลายชั้นโอโซน (Ozone Layer) เป็นเวลานานประมาณ 100,000 ปี รังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Radiation) จึงสามารถแผดเผาสิ่งมีชีวิตบนโลกได้มากกว่าปกติ ในขณะที่ละอองลอย (Aerosol) ปริมาณมหาศาลจากการระเบิดของภูเขาไฟหรือการพุ่งชนของอุกกาบาตสามารถบดบังแสงอาทิตย์จนอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดต่ำลง (Global Cooling) อย่างรวดเร็ว แต่จะกินระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี


          ปัจจุบัน นักภูมิอากาศวิทยา (Climatologist) สามารถศึกษาภูมิอากาศในอดีตโดยตรวจสอบจากตัวบ่งชี้หลายประเภท เช่น ตัวบ่งชี้ทางชีววิทยา (Biological Indicator) ตัวบ่งชี้ทางตะกอนวิทยา (Lithogenic Indicator) ตัวบ่งชี้ทางธรณีสัณฐาน (Geomorphic Indicator) ข้อมูลจากแกนน้ำแข็ง (Ice Core Data) ข้อมูลจากธาตุและไอโซโทป (Element and Isotope Data) รวมถึงข้อมูลทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ (Archaeological and Historical Data) เป็นต้น


          ยุคน้ำแข็งที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะกินระยะเวลาแตกต่างกันเนื่องจากปัจจัยที่แตกต่างกัน บางช่วงเวลา อุณหภูมิของโลกจะลดลงเป็นระยะเวลานานๆ เรียกว่า ยุคน้ำแข็งหลัก (Major Ice Age) แต่บางช่วงเวลา อุณหภูมิของโลกก็ลดลงเป็นระยะเวลาสั้นๆ เรียกว่า ยุคน้ำแข็งน้อย ซึ่งยุคน้ำแข็งน้อยที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มีส่วนผลักดันให้เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง โดยเราจะเริ่มที่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในยุโรปยุคกลาง นั่นคือเรื่องราวของการล่าแม่มด!


          เมื่อประมาณปี ค.ศ.1562 ที่ประเทศเยอรมนี เมฆดำทะมึนขนาดยักษ์ก่อตัวปกคลุมเมืองแห่งหนึ่งจนท้องฟ้ามืดมิดราวกับกลางคืน สายฝน ลูกเห็บ และพายุถาโถมพัดกระหน่ำจนบ้านเรือน ไร่นา และฟาร์มปศุสัตว์เสียหายยับเยิน รวมถึงมีสภาพอากาศเย็นลงจนผิดปกติ เมื่อชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง พวกเขาจึงคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นฝีมือของเหล่าแม่มด ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางศาสนาและเจ้าหน้าที่รัฐทำการตั้งศาลไต่สวนและไล่ล่าสตรีหลายสิบคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด ผลคือสตรีจำนวนมากถูกตัดสินลงโทษโดยการทรมานและประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม การล่าแม่มดในครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งแรก แต่เหตุการณ์ที่คล้ายกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1430 ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศฝรั่งเศส และหลายพื้นที่ในทวีปยุโรป กระทั่งปี ค.ศ.1770 เหตุการณ์ที่แสนโหดร้ายก็เริ่มหมดไปพร้อมกับภูมิอากาศมีความเสถียรมากขึ้น แต่ชีวิตของสตรีหลายพันคนก็ไม่อาจหวนคืน ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ายังมีสตรีอีกจำนวนมากที่ถูกลงโทษโดยไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ชื่อเสียงเรียงนามของพวกเธอจึงหายสาบสูญไปตามธารกระแสแห่งเวลา

 
การล่าแม่มดที่เมือง Baden ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ค.ศ.1585
ที่มา Johann Jakob Wick

 
          เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวที่ชวนสลดหดหู่ไปแล้ว เรามาดูเรื่องศิลปะการดนตรีที่รื่นรมย์กันดีกว่า ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อของอันโตนีโอ สตราดิวารี (Antonio Stradivari) ปรมาจารย์ด้านการผลิตเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชาวอิตาลีในศตวรรษที่ 17 สตราดิวารีเริ่มฝึกฝนเป็นช่างทำไวโอลินและเครื่องสายตั้งแต่วัยหนุ่ม ในระยะแรก เขามักทำไวโอลินตามรูปแบบที่ร่ำเรียนมาจากนิโกโล อามาติ (Nicolo Amati) ผู้เป็นอาจารย์ แต่เขาพบว่าเสียงของไวโอลินดังกล่าวยังไม่ไพเราะจับใจมากเพียงพอ เขาจึงพัฒนาไวโอลินและสารเคลือบเนื้อไม้สูตรลับตามแบบฉบับของตัวเองจนเกิดเป็นไวโอลินคุณภาพสูงอันเลื่องลือ


อันโตนีโอ สตราดิวารี
ที่มา Oberndorfer, Anne Faulkner (1921)

 
          ปัจจุบัน เครื่องดนตรีที่เขาผลิตขึ้นถูกซื้อและขายในราคาหลายล้านดอลลาร์ ช่างทำไวโอลินส่วนหนึ่งเชื่อว่าสาเหตุที่ไวโอลินของสตราดิวารีมีเสียงไพเราะเป็นเพราะความพิถีพิถันในการประดิษฐ์ แต่นักรุกขกาลวิทยา (Dendrochronologist) แห่ง University of Tennessee นามว่า Henri Grissino-Mayer และนักภูมิอากาศวิทยา (Climatologist) แห่ง Columbia University นามว่า Lloyd Burckle มีสมมติฐานที่น่าสนใจกว่านั้น พวกเขาคิดว่าเคล็ดลับในการทำไวโอลินของสตราดิวารีอยู่ที่การเลือกไม้ เพราะไม้ที่เขานำมาทำไวโอลินล้วนเป็นไม้ที่เติบโตในช่วงที่อากาศเย็นจัดระหว่างปี ค.ศ.1666 ถึง 1737 ซึ่งเรียกว่า ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ (Maunder Minimum) ทำให้เนื้อไม้มีวงปีถี่แคบ แข็งแรง และมีความหนาแน่นสูง เสียงจึงเดินทางผ่านเนื้อไม้ได้ดีและไพเราะก้องกังวาน โดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าฤดูหนาวที่ยาวนานในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ (Solar Activity) ซึ่งในปัจจุบันยังมีการศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 
แผนภาพแสดงช่วงต่ำสุดมอนเดอร์
ที่มา Dário Passos

 
          เห็นไหมครับ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งระยะสั้นและระยะยาวสามารถผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากมาย เราจึงไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่แค่ในกรอบของวิทยาศาสตร์ แต่ควรมองหาจุดเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสตร์สาขาอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้เราค้นพบข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกมากมายหลายอย่างและเห็นภาพของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกชัดเจนยิ่งขึ้น

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร

ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อ้างอิง