ฟิสิกส์ของการอนุรักษ์ ตอน กลศาสตร์แม่น้ำกับปลาที่หายไป

20-01-2021 อ่าน 5,185
 


ลำธารธรรมชาติในป่าต้นน้ำ

 
          สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก บ้านของผู้เขียนอยู่ใกล้ป่าธรรมชาติบริเวณริมแม่น้ำสายหนึ่ง เมื่อครั้งที่ธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ หากผู้เขียนพายเรือในแม่น้ำก็จะมีปลาเสือพ่นน้ำหลายตัวเข้ามาแหวกว่ายเคียงไปกับเรือ รวมถึงมีกุ้ง หอย ปู ปลา และแมลงหลากหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม่น้ำลำธารธรรมชาติก็ถูกขุดลอกและแทนที่ด้วยหินกับคอนกรีต เมื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ของพืชและสัตว์ในแหล่งน้ำ ผู้เขียนก็พบว่าระบบนิเวศถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปสำรวจว่าทางน้ำธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงเป็นทางน้ำหินและคอนกรีตจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำอย่างไร โดยอาศัยความรู้วิชาฟิสิกส์ วิศวกรรม และสถาปัตยกรรม เป็นพื้นฐาน


          น้ำในธรรมชาติจะไหลจากบริเวณที่มีพลังงานศักย์สูงไปสู่บริเวณที่มีพลังงานศักย์ต่ำโดยการเปลี่ยนพลังงานศักย์เป็นพลังงานจลน์ เมื่อพิจารณาการไหลของน้ำที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจะพบว่าบริเวณพื้นที่สูงจะมีทางน้ำขนาดเล็กที่เรียกว่า ร่องน้ำริน (Rill) เมื่อร่องน้ำรินไหลมารวมกันก็จะกลายเป็นร่องธาร (Gully) เมื่อร่องธารไหลมารวมกันก็จะกลายเป็นลำธาร (Stream) และเมื่อลำธารไหลมารวมกันก็จะกลายเป็นทางน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า แม่น้ำ (River) โดยแม่น้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามอายุขัยที่เพิ่มมากขึ้น เริ่มจากแม่น้ำแบบตรง (Straight River) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ไปเป็นแม่น้ำแบบตวัดโค้ง (Meandering River) และแม่น้ำแบบธารประสานสาย (Braided River) รูปร่างของแม่น้ำจะถูกกำหนดด้วยตัวแปรหลายอย่าง เช่น ความยาว ความกว้าง ความลึก ความชัน ปริมาณน้ำ อัตราเร็วของน้ำ อัตราการกัดเซาะตะกอน อัตราการทับถมตะกอน และความแข็งแรงของตลิ่งที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางปฐพีกลศาสตร์ (Soil Mechanics) บริเวณด้านข้างของแม่น้ำจะเรียกว่า ที่ราบน้ำท่วม (Floodplain) ซึ่งมีการก่อตัวของคันดินธรรมชาติ (Natural Levee) บริเวณที่มีการสะสมตัวของตะกอนละเอียดใกล้กับทะเลจะเรียกว่า สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (River Delta) การศึกษาตัวแปรทางกายภาพของแม่น้ำเรียกว่า กลศาสตร์แม่น้ำ (River Mechanics) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชลศาสตร์ของทางน้ำเปิด (Hydraulics of Open Channel Flow) ที่ประยุกต์มาจากวิชากลศาสตร์ของไหล (Fluid Mechanics)



การประเมินเสถียรภาพของแม่น้ำ (River Stability) ด้วยค่าอัตราความกว้างต่อความลึก (Width to Depth Ratio)
ที่มา after Rosgen, 1994

การประเมินรูปร่างของแม่น้ำด้วยค่าความชันของทางน้ำ (Channel Slope) กับค่าการไหลเต็มฝั่ง (Bankfull Discharge)
ที่มา Leopold and Wolman (1957) and Balek and Kolar (1959)

 
          เมื่อพิจารณาตัวแปรทางกายภาพและชีวภาพจะพบว่าแม่น้ำลำธารในธรรมชาติมีหน้าที่ขนย้ายมวลน้ำและตะกอนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจากแผ่นดินไปสู่ทะเล นอกจากนี้ บริเวณริมฝั่งของแม่น้ำลำธารยังมีพืชพรรณต่างๆ เข้ามาเติบโต ทำหน้าที่เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์นานาชนิดและช่วยยึดเหนี่ยวมวลดินให้แข็งแรง สิ่งที่น่าสนใจคือระบบรากของต้นไม้ที่อยู่ไกลน้ำกับต้นไม้ที่อยู่ใกล้น้ำจะมีลักษณะแตกต่างกัน โดยปกติ ระบบรากของต้นไม้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ รากแก้ว (Tap Root) เป็นรากขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในการรักษาสมดุลของต้นไม้ รากแขนง (Lateral Root) เป็นรากขนาดเล็กที่งอกออกมาจากรากแก้วโดยทำมุมเอียงหรือแผ่ขนานไปกับดิน และรากวิสามัญ (Adventitious Root) เป็นรากที่มีบทบาทเฉพาะตัวขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้ โดยต้นไม้ที่อยู่ใกล้น้ำมักจะมีรากพูพอน (Buttress Root) ซึ่งเป็นรากที่แผ่ออกจากโคนต้นไม้เพื่อพยุงลำต้น



สัตว์บริเวณทางน้ำธรรมชาติ



ระบบรากต้นไม้ใกล้น้ำ (ซ้าย) ระบบรากต้นไม้ไกลน้ำที่ปรากฏหลังการขุดลอก (ขวา)



การคืบของดิน (Soil Creep) และการทรุดตัวของแนวตลิ่งหลังการขุดลอก

 
          กลับมาที่ประเด็นหลักของบทความ เมื่อพิจารณาทางน้ำธรรมชาติในพื้นที่เขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย เราจะพบว่าทางน้ำธรรมชาติเหล่านั้นแทบทั้งหมดจะมีตะกอนและสังคมพืชริมน้ำปกคลุมอยู่ ตะกอนเหล่านี้มีบทบาทในการพัดพาแร่ธาตุ รวมถึงมีผลต่อการกระเจิง (Scattering) และการดูดกลืน (Absorption) ของแสงภายในน้ำ ขณะที่สังคมพืชริมน้ำมีบทบาททำให้เกิดร่มเงา (Shading Effect) บนผิวน้ำ คอยควบคุมอุณหภูมิและอัตราการระเหยของน้ำไม่ให้มีค่าสูงเกินไป เป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ รักษาสมดุลของดินทางปฐพีกลศาสตร์ และดูดซับสารพิษก่อนที่จะไหลลงทางน้ำ (Buffer Zone)


          อันดับแรก เราจะพิจาณาการเปลี่ยนแปลงของ “แสง” กันก่อน เมื่อทางน้ำธรรมชาติถูกขุดลอกและแทนที่ด้วยหินกับคอนกรีต สิ่งที่เกิดขึ้นคือตะกอนจะลดจำนวนลง การกระเจิงและการดูดกลืนแสงจึงเปลี่ยนแปลงไป สังคมพืชริมน้ำที่หายไปทำให้ร่มเงาที่ทอดยาวบริเวณริมน้ำหายไป แสงสว่างจึงส่องลงไปในน้ำมากขึ้น นอกจากนี้ หินและคอนกรีตก็มีสีค่อนข้างขาว ความสามารถในการสะท้อนแสง (Albedo) จึงมีค่าสูง บริเวณรอบทางน้ำจึงสว่างมากขึ้น หากเปรียบเทียบกับคนเรา ผู้อ่านลองจินตนาการว่าเรากำลังยืนอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้กับยืนตากแดดอยู่บนพื้นหินสีขาวกลางแดดจ้าดูสิครับ แบบที่สองทั้งร้อนและแสบตาใช่ไหมล่ะ!


          อันดับที่สอง เราจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของ “อุณหภูมิ” แม้หินและคอนกรีตจะมีสีค่อนข้างขาว แต่พวกมันก็มีความหนาและมีสภาพการนำความร้อน (Thermal Conductivity) กับความจุความร้อน (Heat Capacity) ที่ค่อนข้างต่ำและไม่สามารถสะสมความชื้นได้เหมือนกับดิน พื้นผิวของหินและคอนกรีตจึงมีการดูดกลืนความร้อน (Heat Absorption) จนทางน้ำร้อนขึ้น และคอนกรีตอาจเกิดความเสียหายเนื่องจากการขยายตัวเชิงความร้อน (Thermal Expansion) อีกด้วย ในขณะที่ทางน้ำธรรมชาติที่ถูกปกคลุมด้วยสังคมพืชจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า เนื่องจากใบของพืชนั้นบางมากและสั่นไหวไปตามแรงลม การถ่ายเทความร้อน (Heat Transfer) โดยการนำความร้อน (Heat Conduction) และการพาความร้อน (Heat Convection) จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่า การเปลี่ยนแปลงนี้คล้ายคลึงกับปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) ที่อุณหภูมิของตัวเมืองสูงกว่าอุณหภูมิของบริเวณที่ไม่ใช่ตัวเมือง การสร้างอาคารรุ่นใหม่จึงต้องคำนึงถึงดัชนีการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Reflectance Index) เพื่อควบคุมอุณหภูมิของอาคารไม่ให้มีค่าสูงจนเกินไปและมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงาน



ทางน้ำธรรมชาติ ทางน้ำหิน และทางน้ำคอนกรีต
ที่มา Preeda Budo



การดูดกลืนและถ่ายเทความร้อนของใบไม้
ที่มา plantphys.info

 
          อันดับที่สาม เราจะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของ “การสั่นสะเทือน” โดยสมมติว่ามีแหล่งกำเนิดพลังงานทำหน้าที่แผ่คลื่นไหวสะเทือน (Seismic Wave) ออกไปโดยรอบ ถึงแม้หินและคอนกรีตจะมีความหนาแน่นสูง กล่าวคือมีมวลมากกว่าดินในปริมาตรที่เท่ากัน ทำให้ระยะเวลาการสั่นสะเทือน (Shaking Time) มีค่าน้อยกว่าดิน แต่ดินมีความสามารถในการยืดหยุ่นทำให้สามารถดูดซับพลังงานและคืนตัวโดยมีการเสียรูปต่ำ และดินยังสามารถถ่ายเทพลังงานของการสั่นสะเทือนไปสู่ตะกอน หิน และต้นไม้ที่อยู่บนพื้นผิว พลังงานของการสั่นสะเทือนจึงถูกดูดกลืนได้ดี หลักการดังกล่าวคล้ายกับหน้าที่ของหินโรยทาง (Track Ballast) ที่รองรับแรงสั่นสะเทือนบนรางรถไฟ


          เมื่อแสงสว่าง อุณหภูมิ และการสั่นสะเทือนบริเวณทางน้ำเปลี่ยนแปลงไป สัตว์ที่มีความไว (Sensitivity) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมก็จะ “หนี” ทำให้ทางน้ำมีความอุดมสมบูรณ์น้อยลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสัตว์จำพวกแมลง กุ้ง ปู ปลา และหอย เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย และทำให้สัตว์ในธรรมชาติเหล่านี้ลดจำนวนลง นี่เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ความรู้ทางฟิสิกส์เข้ากับความรู้ทางพฤติกรรมวิทยา (Ethology) ของสัตว์น้ำ


          แม้การดัดแปลงทางน้ำธรรมชาติให้เป็นทางน้ำหินและคอนกรีตจะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมสัมประสิทธิ์ความขรุขระของแมนนิ่ง (Manning’s Roughness Coefficient) บนพื้นผิวของทางน้ำ การคงรูปของทางน้ำ การไหลของน้ำ และรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำเช่นกัน ซึ่งจากความรู้ ประสบการณ์ และการสืบค้นข้อมูล ผู้เขียนพบว่าการขุดลอกและเปลี่ยนทางน้ำธรรมชาติให้กลายเป็นหินและคอนกรีตตลอดทั้งสายไม่เป็นที่นิยมแล้วในต่างประเทศ โดยการดัดแปลงควรละเว้นบริเวณที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ แต่สามารถทำการดัดแปลงเฉพาะจุดในบริเวณที่ทางน้ำไหลผ่านตัวเมืองโดยอาศัยความรู้ทางภูมิสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วยในการออกแบบทางน้ำให้มีสมบัติใกล้เคียงกับทางน้ำธรรมชาติมากที่สุด



การเว้นระยะถอยร่น (Setback) บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงเพื่อรักษาระบบนิเวศริมแม่น้ำในประเทศไต้หวัน
ที่มา ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์



การปรับปรุงภูมิทัศน์ของแม่น้ำ Avon ในเมือง Christchurch ประเทศ New Zealand
ที่มา www.urban-waters.org


          จากข้อมูลที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่กันฟัง ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าการรู้เพียงศาสตร์หนึ่ง แต่ไม่รู้อีกหลายศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันก็ไม่ต่างจากการเห็นโลกเพียงส่วนเดียวโดยไม่เห็นโลกในภาพรวม แต่เมื่อเราเรียนรู้ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกันจนครบถ้วน เราก็จะรู้ข้อดีและข้อเสียรวมถึงสามารถปรับปรุงข้อเสียให้ดียิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือการผสมผสานความรู้จากสาขาที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจ จนเกิดเป็นการพัฒนาที่ถูกต้องและยั่งยืน เพราะวิทยาศาสตร์ทุกสาขาล้วนเป็นหนึ่งเดียวและไม่อาจแยกออกจากกันได้

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


อ้างอิง