ฟิสิกส์อิเล็กทรอนิกส์ตอนที่ 1 : ไฟฟ้าและการออกแบบ

27-01-2021 อ่าน 6,372

          “ไฟฟ้า” นับได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่ถูกใช้งานมากที่สุดในยุคนี้ ไฟฟ้าเกิดจากการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งของประจุไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่สองชนิดด้วยกันคือ ประจุบวกและประจุลบ แต่ทว่าสิ่งที่ทำให้ไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่แต่เพียงการปล่อยให้ประจุเคลื่อนที่ไปโดยสะเปะสะปะไร้ทิศทางเท่านั้น หากแต่เป็นการ “ออกแบบ” ให้พลังงานไฟฟ้าเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องและสามารถควบคุมปริมาณมากน้อยตามที่ต้องการได้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า วงจรอิเล็กทรอนิกส์
 
 
รูปที่ 1 แสดงเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ภายในมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในการจัดสรรพลังงานเป็นอย่างชาญฉลาดอยู่ภายใน (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [1]) 

 
          ในมุมมองเชิงคณิตศาสตร์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะเชิงทอพอลอจี กล่าวคือจุดทุกๆจุดบนเส้นเดียวกัน เราจะถือได้ว่าเป็นจุดเดียวกัน ดังรูป

 
 
 
รูปที่ 2 แสดงวงจรไฟฟ้าและลักษณะเชิงทอพอลอจี (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [2]) 

 
          วงจรด้านบนยังสามารถเขียนออกมาได้อีกหลายรูปแบบ อาทิ
 

รูปที่ 3 แสดงลักษณะเชิงทอพอลอจีของวงจรไฟฟ้าเดียวกัน ที่สามารถวาดได้หลากหลายรูปแบบ (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [2]) 

 
          ในมุมมองเชิงฟิสิกส์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์จะประกอบไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นแรกที่ทำให้เราสามารถควบคุมปริมาณของกระแสไฟฟ้าได้ก็คือ ตัวต้านทาน ซึ่งค่าความต้านทานมีหน่วยเป็นโอห์ม ตามชื่อของนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน George Simon Ohm และสามารถแสดงความสัมพันธ์ของแรงดันและกระแสไฟฟ้าได้เป็น แรงดันไฟฟ้า(V) จะเท่ากับกระแสไฟฟ้า(I) คูณกับค่าความต้านทาน(R)


รูปที่ 4 ภาพของตัวต้านทานทางไฟฟ้า อุปกรณ์แรกที่ทำให้เราสามารถจัดการกับปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ไฟฟ้าได้และภาพสัญลักษณ์ทางไฟฟ้า (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [3])  

 
          นอกจากตัวต้านทานแล้ว ยังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายชนิดที่นักฟิสิกส์ได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อให้สามารถเข้าไปจัดการกับพฤติกรรมทางไฟฟ้าได้ตามต้องการ หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญมากที่สุดได้แก่ ทรานซิสเตอร์ ดังรูปที่5
 

รูปที่ 5 ภาพของทรานซิสเตอร์และสัญลักษณ์ทางไฟฟ้า (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [4]) 

 
          ทรานซิสเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณการไหลของกระแสไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์เป้าหมายได้โดยการควบคุมผ่านการป้อนกระแสทางขาเบส โดยทั่วไปแล้วยิ่งกระแสทางขาเบสมาก ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านทรานซิสเตอร์จากขาคอลเล็กเตอร์ไปยังขาอีมิตเตอร์ ก็จะยิ่งมากขึ้นตาม โดยกระแสที่ใช้ควบคุมทางขาเบสนั้นปกติจะใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าทรานซิสเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมพลังงานปริมาณมากได้จากการใช้พลังงานใส่เข้าไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หรือมีการเคลื่อนไหวทางกลศาสตร์ ซึ่งสิ่งนี้ตัวต้านทานไม่สามารถทำได้


รูปที่ 6 ภาพลักษณะการต่อวงจรและกราฟความสัมพันธ์ระหว่างกระแสกับแรงดัน (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [5])  

 
         โดยทั่วไปแล้ว ภายในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราพบเห็นกันในชีวิตประจำวัน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หนึ่งๆ อาจมีตัวต้านทานหรือทรานซิสเตอร์อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้อุปกรณ์ที่ได้มีขนาดใหญ่ เพราะต้องมีพื้นที่ในการจัดเก็บแผงวงจรไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงได้มีความพยายามลดขนาดของอุปกรณ์ลง เกิดเป็นแผ่นวงจรรวม (integrated circuit: IC) ขึ้นมา

 
รูปที่ 7 ภาพแผ่นวงจรรวม(integrated circuit) (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [6]) 

 
          ในแผ่นวงจรรวมหนึ่งตัว อาจมีอุปกรณ์รวมถึงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เล็กๆเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอัดแน่นอยู่ภายใน ทำให้เกิดการประหยัดพื้นที่ ลดการใช้พลังงาน และทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้ามีขนาดที่เล็กลงเรื่อยๆ ในมุมหนึ่งวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก็เหมือนตัวเชื่อมผสานระหว่าง ฟิสิกส์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน

 
รูปที่ 8 ภาพของแผ่นวงจรรวมวางอยู่บนวงจรไฟฟ้า (ภาพจากเอกสารอ้างอิง [7]) 

 
          นอกจากตัวต้านทานและทรานซิสเตอร์แล้ว วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆอีกที่น่าสนใจที่ทำงานด้วยพฤติกรรมทางฟิสิกส์ในรูปแบบต่างๆกันอีกมาก อาทิ ตัวเก็บประจุและตัวเหนี่ยวนำเป็นต้น ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถติดตามต่อได้ในฟิสิกส์อิเล็กทรอนิกส์ตอนที่2: แม่เหล็กและการควบคุมจักรกล

 
เรียบเรียงโดย

อภิสิทธิ์ ศรีประดิษฐ์

นักศึกษาระดับปริญญาเอก
ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


อ้างอิง

[1] https://www.tesla.com/model3 (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563)
[2] https://www.slideshare.net/JoyprakashLairenlakpam/ee304-20130802-graph 
     (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563)
[3] https://www.theengineeringprojects.com/2018/01/introduction-to-resistors.html 
     (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563)
[4] https://components101.com/sites/default/files/components/Bipolar-Junction-Transistor.png  
     (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563)
[5] https://www.homemade-circuits.com/load-line-analysis-in-bjt-circuits/  
    (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563)
[6] https://www.plm.automation.siemens.com/media/global/en/AI_Artificial%20Intelligence%
     20image_tcm27-67195.jpg (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563)
[7] https://ipo.gov.tt/wp-content/uploads/2017/10/functions-IntegratedCircuits.jpg 
    (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563)