ฟิสิกส์กับโบราณคดี ตอนที่ 4 สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติยุคโบราณ

10-03-2021 อ่าน 4,026


โบราณสถาน Machu Picchu ของอารยธรรมอินคา ประเทศเปรู (ภาพถ่ายโดย Pedro Szekely)

 
            ผลการคำนวณอายุของโลกด้วยวิธีไอโซโทปยูเรเนียม-ตะกั่ว (Uranium-Lead Dating) บอกเราว่าโลกมีอายุประมาณ 4,500 ล้านปี ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน บรรยากาศ ผืนแผ่นดิน มหาสมุทร และสิ่งชีวิตบนโลกล้วนผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง โดยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงมาจากทั้งบนโลกและนอกโลก เช่น การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (Plate Tectonics) การเปลี่ยนแปลงกลศาสตร์การหมุนกับวงโคจรของโลกตามวัฏจักรมิลานโควิทช์ (Milankovitch Cycle) การระเบิดของภูเขาไฟ (Volcano Explosion) และการพุ่งชนของอุกกาบาต (Meteorite Impact) ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญที่คอยขับเคลื่อนการกำเนิด การสูญพันธุ์ และการวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกทางธรรมชาติ (Evolution by Natural Selection) เช่น อุกกาบาตที่ปิดฉากยุครุ่งเรืองของไดโนเสาร์แล้วเปิดโอกาสให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เข้ามามีบทบาท ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าหากอุกกาบาตไม่พุ่งชนโลกในวันนั้นก็อาจไม่มีมนุษย์ในวันนี้


          จากบทความตอนที่ 1 2 และ 3 ผู้เขียนเล่าเรื่องการสำรวจ การวิเคราะห์ และการกำหนดอายุของหลักฐานทางโบราณคดีไปแล้ว ในบทความตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ผู้เขียนจะกล่าวถึงโบราณคดีสิ่งแวดล้อม (Environment Archaeology) และโบราณคดีธรณีพิบัติภัย (Archaeo-geohazard) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต โดยผู้เขียนจะพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปเพื่อสำรวจว่ามนุษย์ในอดีตใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไรและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในยุคนั้นมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร


          เราทุกคนต่างรู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และนั่นหมายความว่าหลักฐานทางโบราณคดีย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถทำให้เกิดยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ที่นำพาน้ำแข็งเข้ามาปกคลุมหลักฐานทางโบราณคดี ขณะที่ภาวะโลกร้อน (Global Warming) จะทำให้น้ำแข็งละลายลงสู่ทะเลจนหลักฐานทางโบราณบนบกถูกเผยออกมา แต่หลักฐานทางโบราณคดีริมชายฝั่งจะถูกกลืนหายไปแทน จากความรู้วิชาบรรพภูมิอากาศวิทยา (Paleoclimatology) นักวิทยาศาสตร์สามารถบอกลักษณะของภูมิอากาศบรรพกาล (Paleo-climate) การแกว่งกวัดทางภูมิอากาศ (Climate Oscillation) การเกิดธรณีพิบัติภัยบางประการ และกิจกรรมจากฝีมือมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักฐานบ่งชี้ทางภูมิอากาศ (Climate Proxy) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ตอบสนองหรือบ่งบอกว่าภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ หลักฐานบ่งชี้ทางกายภาพ (Physical Proxies) หลักฐานบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological Proxies) และหลักฐานบ่งชี้ทางเคมี (Chemical Proxies)
         


หลักฐานบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ภายโดย Victor O. Leshyk)

 
            เมื่อนักวิทยาศาสตร์พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ (Landscape) พวกเขาจะสามารถบอกอย่างคร่าวๆ ได้ว่าตำแหน่งบนพื้นผิวโลกที่กำลังพิจารณาเคยมีภูมิอากาศเป็นอย่างไร เช่น แอ่งตะกอนละเอียดจะแสดงลักษณะของพื้นที่น้ำท่วม ส่วนรอยครูดไถบนผนังและพื้นหินจะบ่งบอกว่าเคยมีการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็ง อย่างไรก็ตาม หลักฐานบ่งชี้จำนวนมากมักจะมีขนาดเล็กจึงต้องพิจารณาและวิเคราะห์อย่างละเอียด เช่น


1. หลักฐานจากตะกอน
          จากความรู้วิชาตะกอนวิทยา (Sedimentology) เมื่อแร่และหินกลายเป็นตะกอนเนื่องจากการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) และการกัดเซาะ (Erosion) โดยของไหลอย่างลมและน้ำ ตะกอนจะเคลื่อนที่จากพื้นที่สูงลงไปสะสมตัว (Deposition) อยู่ในพื้นที่ต่ำและมีการคัดขนาด (Sorting) โดยความเร็วในการตกตะกอน (Settling Velocity) จะเป็นไปตามกฎของสโตกส์ (Stokes’ Law) กล่าวคือตะกอนขนาดใหญ่จะตกถึงพื้นเร็วกว่าตะกอนขนาดเล็ก เช่น ตะกอนใต้ผิวดิน (Subsurface Sediment) ซึ่งนิยมทำการวิเคราะห์ลักษณะของการสะสมตัวภายในหลุมเจาะ (Borehole Analysis), ตะกอนแม่น้ำ (River Sediment) และตะกอนทะเลสาบ (Lake Sediment) ที่ตะกอนหยาบจะตกสะสมตัวในฤดูร้อนกับฤดูฝน เนื่องจากกระแสน้ำมีแนวโน้มที่จะไหลแบบปั่นป่วน (Turbulence Flow) ขณะที่ตะกอนละเอียดจะตกสะสมตัวในฤดูหนาว เนื่องจากกระแสน้ำมีแนวโน้มที่จะไหลแบบราบเรียบ (Laminar Flow) โดยชั้นตะกอนจะมีสีเข้มและอ่อนตามปริมาณแร่และสิ่งมีชีวิตภายในน้ำ ซึ่งความหนาและลักษณะของชั้นตะกอนสามารถบอกความแตกต่างของฤดูกาลได้, ตะกอนมหาสมุทร (Ocean Sediment) เกิดจากตะกอนที่ไหลมาจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทร ซึ่งน้ำจะนำพาซากของสิ่งมีชีวิตมาสะสมตัวบนพื้นมหาสมุทร สัตว์ที่มีเปลือกจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตที่ประกอบด้วยไอโซโทปของแคลเซียมและออกซิเจนซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ไอโซโทป (Isotope Analysis) เพื่อหาอายุและอุณหภูมิของน้ำ, ตะกอนถ้ำ (Speleothem) จำพวกหินงอกและหินย้อยจะเกิดจากแร่ที่ละลายในน้ำแล้วพอกพูนเป็นชั้นๆ ซึ่งแคลเซียมคาร์บอเนตสามารถนำมาวิเคราะห์ว่าช่วงเวลาใดเกิดความแห้งแล้งหรือมีฝนตกชุก, ตะกอนที่เกิดจากการระเหยของน้ำ (Evaporite Sediment) อย่างเกลือหิน (Rock Salt) จะพบในภูมิอากาศแบบร้อนและแห้ง รวมถึงบ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นทะเล ส่วนศิลาแลง (Laterite) จะพบในภูมิอากาศแบบร้อนและชื้น ขณะที่ถ่าน (Charcoal) จะพบในบริเวณที่มีการทับถมของซากอินทรีย์เป็นจำนวนมากและอาจสะสมฝุ่นควันจากไฟป่าหรือภูเขาไฟระเบิดเอาไว้ด้วย



การจัดเก็บแท่งตะกอนจากหลุมเจาะ (ภาพถ่ายโดย USGS)

 
         นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถตรวจสอบภูมิอากาศในอดีตจากผลึกฟุลเกอไรต์ (Fulgurite) เพราะทรายมีแร่ควอตซ์ (Quartz) ซึ่งเป็นผลึกของซิลิกอนไดออกไซด์ (SiO2) เป็นส่วนประกอบ เมื่อควอตซ์ได้รับความร้อนมากเพียงพอ โมเลกุลของซิลิกอนไดออกไซด์จะดูดกลืนพลังงานและเกิดการสั่นของพันธะจนแตกสลายแล้วหลอมละลายกลายเป็นของเหลว การถ่ายเทความร้อน (Heat Transfer) ให้กับทรายที่พบได้บ่อยก็คือฟ้าผ่าบรรพกาล (Paleo-lightning) เพราะฟ้าที่ผ่าลงบนพื้นดินจะทำให้อุณหภูมิของทรายเพิ่มสูงขึ้นแล้วกลายเป็นผลึกฟุลเกอไรต์ที่มีลักษณะคล้ายแท่งแก้วผิวหยาบ ภายในกลวง และมีหลากหลายสีสันขึ้นอยู่กับแร่ที่ปะปนอยู่ในทราย หากผลึกฟุลเกอไรต์ก่อตัวขึ้นเป็นโครงสร้างแบบปิดที่ไร้รูรั่ว นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถนำอากาศที่ถูกกักเก็บเอาไว้ภายในมาศึกษาภูมิอากาศในอดีตได้

 
ฟุลเกอไรต์ที่เกิดจากทรายบนชายหาด
ที่มา http://www.geologyin.com/2014/06/amazing-fulgurites.html

 
2. หลักฐานจากธารน้ำแข็ง
          จากความรู้วิชาธารน้ำแข็งวิทยา (Glaciology) แกนน้ำแข็ง (Ice Core) และชั้นน้ำแข็ง (Ice Layer) จะกักเก็บฟองอากาศและฝุ่นควันจากไฟป่าหรือภูเขาไฟเอาไว้ภายใน ทำให้สามารถนำไอโซโทปของออกซิเจนและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มาวิเคราะห์หาลักษณะของภูมิอากาศในอดีตได้ เช่น ออกซิเจน-16 จะมีมวลน้อยกว่าออกซิเจน-18 ดังนั้น ออกซิเจน-16 จึงระเหยง่ายกว่าออกซิเจน-18 ด้วยเหตุนี้ อัตราส่วนของออกซิเจน-18 ต่อออกซิเจน-16 (O-18/O-16 Ratio) จึงสัมพันธ์กับภูมิอากาศ



การจัดเก็บแกนน้ำแข็ง (ภาพถ่ายโดย USGS)

 
3. หลักฐานจากมหาสมุทร
          จากความรู้วิชาสมุทรศาสตร์ (Oceanography) มหาสมุทรจะทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาราว 40 เปอร์เซ็นต์ ผืนป่าแบกรับเอาไว้ราว 20 เปอร์เซ็นต์ และอีกราว 40 เปอร์เซ็นต์จะสะสมอยู่ในบรรยากาศจนทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เมื่อบรรยากาศของโลกร้อนขึ้น มหาสมุทรก็ร้อนขึ้นตามไปด้วย ทำให้ออกซิเจนละลายน้ำน้อยลง น้ำในมหาสมุทรซึ่งเดิมทีมีค่าเป็นเบสก็จะมีไฮโดรเจนไอออนเพิ่มขึ้นจนค่ากรด-เบสหรือค่าพีเอช (pH) ลดลง เมื่อมหาสมุทรเป็นกรดมากขึ้น (Ocean Acidification) แคลเซียมคาร์บอเนตในมหาสมุทรจึงละลายหรือตกตะกอนยากขึ้น ส่งผลให้กระดูกและเปลือกของสัตว์ทะเลเกิดการสึกกร่อนหรือบางลง กลายเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามหาสมุทรมีค่าพีเอชเป็นอย่างไร นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณหาค่าพีเอชของมหาสมุทรบรรพกาล (Paleo-Ocean pH) โดยการวิเคราะห์คาร์บอนไดออกไซด์ในฟองอากาศที่ถูกกักเก็บอยู่ภายในชั้นน้ำแข็งโบราณ รวมถึงการศึกษาทางโครงสร้างแข็งวิทยา (Sclerochronology) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ร่างกายของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่มีเปลือกหรือส่วนของร่างกายที่แข็ง เช่น อัตราส่วนไอโซโทปของธาตุโบรอน (Boron-11 ต่อ Boron-10) แคลเซียม (Ca) แบเรียม (Ba) แมงกานีส (Mn) และอีทเรียม (Y) ของปะการังที่มีแถบการเจริญเติบโตประจำปี (Annual Growth Band) ซึ่งสามารถนำมาหาภูมิอากาศและสมบัติของน้ำทะเลแบบรายเดือนและรายปีได้



โครงสร้างภาคตัดขวางของปะการัง (ภาพถ่ายโดย USGS)

 
4. หลักฐานจากวงปีต้นไม้
          ต้นไม้บางชนิดสามารถนำมากำหนดอายุด้วยวิธีวิเคราะห์วงปี (Tree Ring Dating) หรือรุกขกาลวิทยา (Dendrochronology) นอกจากนี้ วงปีของต้นไม้ยังตอบสนองต่อปริมาณน้ำในแต่ละช่วงเวลาของปี กล่าวคือวงปีการเจริญเติบโตของต้นไม้ (Annual Growth Ring) จะแบ่งออกเป็นวงย่อย (Subring) จำนวน 2 วง โดยวงหนึ่งมีแถบหนาสีอ่อน (Early Wood) ส่วนอีกวงหนึ่งมีแถบบางสีเข้ม (Latewood) เมื่อทำการวิเคราะห์วงปีจะสามารถบอกได้ว่าในปีดังกล่าวมีภูมิอากาศเป็นอย่างไร มีปริมาณน้ำเท่าใด และมีไฟป่าหรือไม่ เรียกว่า รุกขภูมิอากาศวิทยา (Dendroclimatology)
 

ภาคตัดขวางของวงปีต้นไม้
ที่มา https://www.sciencenews.org/article/tree-story-book-explores-what-tree-rings-can-tell-us-about-past

 
5. หลักฐานทางนิเวศวิทยา
          นักนิเวศวิทยา (Ecologist) ทราบดีว่าพืชและสัตว์จะอาศัยอยู่ในภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเติบโตของตัวเอง เช่น มอสส์ (Moss) และเฟิร์น (Fern) จะเติบโตในป่าที่มีน้ำมาก แต่เมื่อพืชเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต พืชจะเกิดความเครียด โดยความเครียดจากสิ่งแวดล้อม (Environmental Stress) จะแบ่งออกเป็นความเครียดจากสิ่งมีชีวิต (Biotic Stress) เช่น เชื้อโรค แมลงศัตรูพืช และพืชอื่นที่เข้ามารบกวน กับความเครียดจากสิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic Stress) ซึ่งหมายถึงภาวะที่มีน้ำ อุณหภูมิ แสง และสารเคมี ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของพืช การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมสามารถพบได้ในสารเคลือบใบ (Leaf Wax) ซึ่งบรรจุสารชีวอินทรีย์และไอโซโทปของธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เช่น การตรวจสอบอัตราส่วนของดิวเทอเรียมต่อไฮโดรเจน (D/H Ratio) พบว่าค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเมื่ออากาศร้อนและแห้ง แต่จะลดลงเมื่ออากาศเย็นและชื้น หรือการวิเคราะห์ทางเรณูวิทยา (Palynology) ซึ่งสามารถบอกชนิดและจำนวนของพืชที่เติบโตในภูมิอากาศแบบเฉพาะตัว นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถตรวจสอบกองปฏิกูลของหนูแพ็ค (Packrat Midden Method) เพราะพวกมันจะทำรังด้วยเศษพืช เศษซากของสิ่งมีชีวิตอื่นในบริเวณใกล้เคียง และมูลของพวกมันเอง พวกมันจะปัสสาวะรดวัสดุภายในรัง ทำให้สารละลายในปัสสาวะเกิดการตกผลึก (Crystallization) เป็นแผ่นแข็งเคลือบอยู่บนพื้นผิวของมูล นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถวิเคราะห์ว่าเศษวัตถุภายในรังของหนูแพ็คประกอบด้วยอะไร สภาพแวดล้อมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างไร และสามารถกำหนดอายุได้ด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน (Radiocarbon)

 

มูลของหนูแพ็ค (ภาพถ่ายโดย USGS)

 
6. หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์
          ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (Fossil) หมายถึงร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่ผ่านกระบวนการแปรสภาพเป็นฟอสซิล (Fossilization) แบ่งออกเป็นฟอสซิลรูปร่าง (Body Fossil) และฟอสซิลร่องรอย (Trace Fossil) โดยฟอสซิลจะเกิดในบริเวณที่แห้งและเย็น มีจุลินทรีย์และออกซิเจนน้อย แต่มีแร่เป็นจำนวนมาก ความเป็นไปได้ในการค้นพบฟอสซิลจะขึ้นอยู่กับศักยภาพในการเก็บรักษา (Preservation Potential) ของพื้นที่และช่วงเวลา ตัวอย่างฟอสซิลที่บ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น หากเราพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำบนบกเป็นจำนวนมากก็หมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการยกตัวของแผ่นดินหรือน้ำมีการลดระดับลง ในทางกลับกัน หากเราค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตบนบกในแหล่งน้ำเป็นจำนวนมากก็หมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการจมตัวของแผ่นดินหรือระดับน้ำมีการเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์ทางธรณีฟิสิกส์แปรสัณฐาน (Tectonophysics) และสมุทรศาสตร์กายภาพ (Physical Oceanography) ซึ่งการตรวจสอบฟอสซิลสามารถทำได้ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างตัวอ่อนของแมลง (Insect Larvae Subfossil) ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่

 

ฟอสซิลของแอมโมไนต์บนภูเขา (ภาพถ่ายโดย Dave Quinn)


          นอกจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ธรณีพิบัติภัยบรรพกาล (Paleo-geohazard) เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม หลุมยุบ แผ่นดินทรุด แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด พายุ และอุกกาบาต รวมถึงภัยพิบัติอย่างโรคระบาด (Pestilence) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีตจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อโบราณคดีของการตั้งถิ่นฐาน (Settlement Archaeology) เช่น


          1. โบราณคดีแผ่นดินไหววิทยา (Archaeoseismology) หมายถึงการศึกษาผลกระทบของแผ่นดินไหวที่มีต่อการพังทลายหรือล่มสลายของนครโบราณ ประเทศไทยของเราก็มีตำนานเล่าขานถึงอาณาจักรโยนกนาคนครสิงหพันธุซึ่งล่มสลายเนื่องจากแผ่นดินไหวจนกลายเป็นเวียงหนองหล่มที่เป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบเชียงแสน นักธรณีฟิสิกส์สามารถประมาณค่าขนาดของแผ่นดินไหว (Earthquake Magnitude) จากการประเมินความเสียหายของซากปรักหักพังและข้อมูลทางธรณีวิทยาโครงสร้าง (Structural Geology)


          2. โบราณคดีภูเขาไฟวิทยา (Archaeovolcanology) หมายถึงการศึกษาผลกระทบของภูเขาไฟที่มีต่อมนุษย์ในอดีต เช่น การระเบิดของภูเขาไฟเวซูเวียส (Vesuvius Volcano) ที่ฝังกลบเมืองปอมเปอี (Pompeii) และเมืองเฮอร์คิวเลเนียม (Herculaneum) ให้อยู่ภายใต้โคลนและเถ้าภูเขาไฟ


          3. โบราณคดีดาวเคราะห์วิทยา (Archaeoplanetology) หมายถึงการศึกษาต้นกำเนิด องค์ประกอบ การเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์ รวมถึงสิ่งต่างๆ ในอวกาศที่มีผลต่อมนุษย์ในอดีต เช่น แหล่งโบราณคดี Abu Hureyra ซึ่งแสดงหลักฐานว่าที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคแรกอาจถูกทำลายโดยดาวหาง (Comet) หรือดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) เนื่องจากมีการค้นพบเศษวัตถุ (Debris) ที่บ่งชี้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากอวกาศ


          4. โบราณคดีไวรัสวิทยา (Archaeovirology) หมายถึงการศึกษาไวรัสที่เกี่ยวพันกับมนุษย์ในอดีต เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนผันผวนแล้วส่งผลต่อการแพร่กระจายของสัตว์พาหะตามหลักสัตวภูมิศาสตร์ (Zoogeography) เช่น ไวรัสที่แพร่กระจายผ่านทางแมลง (Arbovirus) และสัตว์ปีก การล่าสัตว์และทำลายป่าที่ทำให้มนุษย์มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ป่ามากขึ้น และการเดินเรือที่นำสัตว์พาหะจากดินแดนหนึ่งไปแพร่พันธุ์ในอีกดินแดนหนึ่งแล้วทำให้เกิดโรคระบาดในสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีภูมิต้านทาน
 
          

เมือง Scythopolis ที่ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวในปี ค.ศ.749 (ภาพถ่ายโดย Ori~)

 
          นอกจากหลักฐานที่บ่งบอกถึงต้นกำเนิด วิวัฒนาการ และวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีต หลายครั้ง นักโบราณคดีก็ต้องสืบสาวลึกลงไปถึงคำถามที่ว่า “มนุษย์ในอดีตเสียชีวิตเพราะเหตุใด?” ด้วยการผนวกรวมความรู้ทางวิชาโบราณดีเข้ากับวิชานิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science) จนกลายเป็นวิชานิติโบราณคดี (Forensic Archaeology) เพื่อไขปริศนาหาเหตุแห่งการตาย


          สิ่งที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิชาโบราณคดี แต่พออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความสำคัญต่อวิชาโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะวิทยาศาสตร์สามารถพาเราย้อนเวลากลับไปสู่อดีต ทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน และฉายภาพของอนาคตที่อาจเป็นไปได้ให้เราเห็น ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “วิทยาศาสตร์คือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของมนุษยชาติ” ก็อาจไม่ใช่เรื่องเกินจริงสักเท่าใดนัก

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร

ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง