การเดินทางของการสร้างตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้อง ตอนที่ 2

12-03-2021 อ่าน 2,102
 
          จากในการเดินทางของการสร้างตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้อง ตอนที่ 1 เริ่มต้นจากการค้นพบสภาพนำยวดยิ่งของปรอทที่อุณหภูมิวิกฤตประมาณ 4.2 K ใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ โดยออนเนสในปี 1911 จนถึงตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงของ พอล ชู โดยเป็นตัวนำยวดยิ่งสารประกอบ Y-Ba-Cu-O ที่มีอุณหภูมิวิกฤตประมาณ 92 K ทั้งหมดนี้เกิดจากาการลดอุณหภูมิเพื่อให้แสดงสภาพนำยวดยิ่งในตอนที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีการ คือ การเพิ่มความดันเพื่อช่วยให้ตัวนำยวดยิ่งมีอุณหภูมิวิกฤตเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญของการเดินทางของการสร้างตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้อง



รูปที่ 1 อุปกรณ์ที่ใส่สภาพนำยวดยิ่งสารประกอบคาร์บอนเนตซัลเฟอร์ไฮไดรด์ภายในความดันสูงโดยทั่งเพชร Credit picture: J. Adam Fenster / University of Rochester


 
               เริ่มต้นในปี 1935 จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนสถานะของไฮโดรเจนไปเป็นโลหะโดย ยูจีน วิกเนอร์ (Eugene Winger) และ ฮิลลารด์ ฮันติงตัน (Hillard Huntington) ได้ตีความผ่านทฤษฏีทางฟิสิกส์พบว่ามีการเปลี่ยนสถานะภายใต้ความดันมากกว่า 25 GPa หรือ 25×109 Pa ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีเทคนิคในการทดลองที่จะเพิ่มความดันให้กับระบบได้สูงถึงระดับจิกะพาสศัล (GigaPa) จากนั้นในปี 1968 นีล แอซครอฟต์ (Neil Ashcroft) จากการพัฒนาทฤษฎี BCS ได้พบว่า การเปลี่ยนสถานะโลหะจากไฮโดรเจนยังมีสมบัติเป็นตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงจากงานวิจัยนี้เป็นผลทำให้ภายหลังมีการค้นพบ hydrogen-rich solid ในหลายกลุ่มสารประกอบที่สามารถแสดงสมบัติสภาพนำยวดยิ่งได้ ในปี 2014 ในวารสาร Scientific Report เรื่อง Pressure-induced metallization of dense (H2 S)2 H2 with high-Tc superconductivity ได้ใช้การคำนวณ ab initio Density Functional Theory (DFT) พบว่าโครงสร้างสารประกอบ(H2 S)2 H2 ภายใต้ความดัน 111 GPa เปลี่ยนสถานะเป็นโลหะ (metallization) และพบสภาพนำยวดยิ่งที่มีอุณหภูมิวิกฤตอยู่ในช่วง 191 ถึง 204 K ที่ความดัน 200 GPa 



                  รูปที่ 2 (A) ไฮโดรเจนภายใต้ความดัน 205 GPa (B) ไฮโดรเจนภายใต้ความดัน 415 GPa (C) ไฮโดรเจนภายใต้ความ                   ดัน 495 GPa Credit Picture : Dias, R. P. & Silvera, I. F. Observation of the Wigner–Huntington transition to metallic hydrogen. Science 355, 715–718 (2017).

 
          ในปี 2011 จากการคาดการณ์โดยการคำนวณเชิงตัวเลขของแม็คมาฮอน (Mcmahon) และ ซีเปอร์เลย์ (Ceperley) พบว่า โลหะไฮโดรเจนสามารถแสดงสภาพนำยวดยิ่งเมื่ออยู่ภายใต้ความดัน 500 GPa ถึง 3.5 TPa โดยมีอุณหภูมิวิกฤต 356 K ที่ความดันใกล้ 500 GPa ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนพยายามทำการทดลองว่าเป็นไปตามการคาดการณ์หรือไม่ จนกระทั่งในปี 2017  ในวารสาร Science เรื่อง Observation of the Wigner-Huntington transition to metallic hydrogen โดย รังกา ดีแอซ (Ranga Dias) และไอแซค ซิลวีร่า (Isaac Sivera) สามารถทำให้เกิดโลหะไฮโดรเจน (metallic hydrogen) ได้ จากการใช้ทั่งเพชร (diamond anvil) ซึ่งกดไฮโดรเจนที่อยู่ระหว่างปลายเพชรทั้ง 2 ก้อนบีบให้เกิดความดันและใช้แสง LED (light emitting diode) ส่องเพื่อตรวจสอบสถานะที่เปลี่ยนไปของไฮโดรเจน จากการทดลองเมื่อความดันอยู่ที่ 205 GPa ไฮโดรเจนมีลักษณะโปร่งแสง (transparent H2)  ซึ่งแสง LED สามารถส่องผ่านได้ ดังรูปที่ 2 (A) จากนั้นเมื่อเพิ่มความดันไปถึง 415 GPa ไฮโดรเจนมีลักษณะทึบแสง (opaque H2) ซึ่งแสง LED ไม่สามารถส่องผ่านได้ทำให้เป็นสีดำ ดังรูปที่ 2 (B) และเมื่อเพิ่มความดันถึง 495 GPa ไฮโดรเจนได้เปลี่ยนเป็นสถานะโลหะไฮโดรเจนแสดงลักษณะอย่างหนึ่งของโลหะ คือ มีความแวววาวซึ่งสะท้อนแสงและไม่โปร่งแสง ดังรูปที่ 2 (C) สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดในการทดลองนี้ คือ ไม่สามารถวัดสมบัติอื่นๆ ของโลหะไฮโดรเจนนี้ได้ เนื่องจากเมื่อเอาโลหะไฮโดรเจนออกจากทั่งเพชรทำให้ความดันลดลงทำให้เป็นไฮโดรเจนธรรมดา แต่ก็เพียงพอทำให้เกิดประโยชน์ต่อการเตรียมการทดลองความดันสูงๆและอาจเป็นส่วนสำคัญในการสร้างตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้อง


          นอกจากนี้ยังมีการคำนวณและทำนายจากทฤษฏีต่างๆเพื่อหาสารประกอบที่คาดว่าจะได้ตัวนำยวดยิ่งที่อุณหภูมิวิกฤตมีค่าสูงๆ โดยมีการค้นพบจากการคำนวณที่สำคัญ ในปี 2015 พบสภาพนำยวดยิ่งใน H3S มีอุณหภูมิวิกฤตประมาณ 203 K ภายใต้ความดันประมาณ 90 GPa โดยมีอันตรกิริยาของอิเล็กตรอนโฟนอนตามทฤษฏี BCS เป็นกลไกสำคัญของการเกิดสภาพนำยวดยิ่ง นอกจากนี้ยังการคำนวณได้ทำนายว่า สภาพนำยวดยิ่งในสารประกอบYH6 จะมีอุณหภูมิวิกฤตประมาณ 251 K ภายใต้ความดันประมาณ 120 GPa ในปี 2019 จากการคำนวณ Density Functional Theory (DFT)  มีการค้นพบสภาพนำยวดยิ่งใน LaH10 มีอุณหภูมิวิกฤตประมาณ 250 K ภายใต้ความดันประมาณ 170 GPa โดยมีอันตรกิริยาของอิเล็กตรอนโฟนอนสอดคล้องกับปรากฏการณ์ไอโซโทปตามทฤษฏี BCS  ในปีเดียวกันนี้ได้มีการค้นพบสภาพนำยวดยิ่งใน (LaH10 Lanthanum super hydride) จากการทดลองภายในความดันสูงโดยทั่งเพชร มีอุณหภูมิวิกฤตประมาณ 250 K (23℃) ภายใต้ความดันประมาณ 190 GPa ซึ่งในครั้งนี้ได้มีเครื่องมือวัดทางไฟฟ้า 4 ด้าน (four-probe electrical transport measurements) ที่สารประกอบภายใต้ความดันสูงสามารถวัดค่าต่างๆ ได้อย่างชัดเจน 


          ในปี 2020 วารสาร Nature เรื่อง Room-temperature superconductivity in a carbonaceous sulfur hydride ค้นพบสภาพนำยวดยิ่งของสารประกอบคาร์บอนเนตซัลเฟอร์ไฮไดรด์ มีอุณหภูมิวิกฤต 287±1.2 K หรือประมาณ 15℃ ภายใต้ความดันประมาณ 267 GPa ที่ใช้ทั่งเพชรประกบสารประกอบนี้ ดังรูปที่ 1 ซึ่งเป็นสารประกอบแรกที่สามารถแสดงสภาพนำยวดยิ่งที่อุณหภูมิวิกฤตได้มากกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำหรือ 0℃ จากการงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ายังเหลือแค่ 10℃ เท่านั้นเองจึงมีความใกล้เคียงกับอุณหภูมิห้องที่ 25℃ การปรับเปลี่ยนสารประกอบของตัวนำยวดยิ่งและเทคโนโลยีในอนาคตอาจจะช่วยให้การแสดงสภาพนำยวดยิ่งที่อุณหภูมิห้องและใช้ความดันที่น้อยลง โดยเทคโนโลยีชั้นนำที่มีส่วนสำคัญเป็นตัวนำยวดยิ่ง ได้แก่ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ตัวนำยวดยิ่งเป็นตัวประมวลผล (programmable superconducting processor) ของกูเกิล (Google) ในปี 2019 ที่ต้องลดอุณหภูมิวงจรตัวนำยวดยิ่งถึง 0.02 K เพื่อให้ตัวนำยวดยิ่งแสดงสมบัติคล้ายคิวบิต (qubit) ได้ ทำให้เกิด quantum supremacy ที่คำนวณได้มากกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันได้หลายล้านเท่า หรือ ตัวนำยวดยิ่งในเครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider) ที่ประกอบด้วยตัวนำยวดยิ่งประมาณ 10,000 ตัว โดยต้องลดอุณหภูมิถึง 1.9 K ในการใช้งานจากสองตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การดึงศักยภาพของตัวนำยวดยิ่งต้องลดอุณหภูมิจนเกือบถึงศูนย์องศาสัมบูรณ์ทำให้มีต้นทุนสูงเป็นอย่างมากในการทดลองแต่ละครั้ง เนื่องด้วยการค้นพบตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้องจะมีส่วนช่วยที่สำคัญในการลดต้นทุนในการทดลองแต่ละครั้งและอาจลดขนาดของอุปกรณ์ได้ด้วย เป้าหมายการเดินทางเหมือนกับใกล้ถึงเส้นชัยของการค้นพบตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้องซึ่งเป็นหลักสำคัญของฟิสิกส์ แต่ในเส้นทางการหาทฤษฏีทางฟิสิกส์มาอธิบายปราการณ์ของตัวนำยวดยิ่งด้วยความดันยังไม่มีความคลอบคลุมในทุกสารประกอบและอธิบายได้เพียงสมบัติบาง


          ประการที่เกิดขึ้นโดยต้องพึ่งพาการคำนวณเชิงตัวเลข (ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ)  เปรียบเสมือนเดินทางในสายหมอกที่ยังไม่เห็นเส้นทางที่แน่ชัดเหมือนกับหลายปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านในแต่ละยุค แต่แล้วในท้ายที่สุดเหล่านักฟิสิกส์ในแต่ยุคก็สามารถหาคำตอบและคำอธิบายที่อยู่เบื้องหลังสายหมอกของปัญหาให้แก่มวลมนุษยชาติได้เสมอมา เราก็คงหวังว่าในอนาคตอันใกล้เหล่านักฟิสิกส์ก็สามารถหาคำอธิบายตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิห้องได้ซึ่งจะนับเป็นการสิ้นสุดการเดินทางนี้อย่างสมบูรณ์

 
บทความโดย

ดร. ธีระวัฒน์ ชัชวาลธีรัตต์ 
ผู้ช่วยงานวิจัย ภาคฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

รศ. ดร. พงษ์แก้ว อุดมสมุทรหิรัญ
อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 
อ้างอิง
  • [1] หนังสือ ตัวนำยวดยิ่งพื้นฐาน, รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์แก้ว อุดมสมุทรหิรัญ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2559 ISBN 9789740335221
  • [2] https://phys.org/news/2020-10-room-temperature-superconducting-material.html
  • [3] Duan, D. et al. Pressure-induced metallization of dense (H2S)2H2 with high-Tc superconductivity. Sci. Rep. 4, 6968 (2014).
  • [4] Dias, R. P. & Silvera, I. F. Observation of the Wigner–Huntington transition to metallic hydrogen. Science 355, 715–718 (2017).
  • [5] Drozdov, A. P., Eremets, M. I., Troyan, I. A., Ksenofontov, V. & Shylin, S. I. Conventional superconductivity at 203 kelvin at high pressures in the sulfur hydride system. Nature 525, 73–76 (2015).
  • [6] Somayazulu, M. et al. Evidence for superconductivity above 260 K in lanthanum superhydride at megabar pressures. Phys. Rev. Lett. 122, 027001 (2019).
  • [7] Drozdov, A. P. et al. Superconductivity at 250 K in lanthanum hydride under high pressures. Nature 569, 528–531 (2019).
  • [8]  Snider, E., Dasenbrock-Gammon, N., McBride, R. et al. Room-temperature superconductivity in a carbonaceous sulfur hydride. Nature 586, 373–377 (2020). https://doi.org/10.1038/s41586-020-2801-z
  • [7] Arute, F., Arya, K., Babbush, R. et al. Quantum supremacy using a programmable superconducting processor. Nature 574, 505–510 (2019). https://doi.org/10.1038/s41586-019-1666-5
  • [8] “Large Hadron Collider” https://en.wikipedia.org/wiki/Large_Hadron_Collider