วิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์กับโรคระบาดในอารยธรรมมนุษย์ ตอนที่ 2

16-08-2021 อ่าน 2,326

ภาพเขียน The Pestilence of 1656 โดย Carlo Coppola แสดงความน่ากลัวของกาฬโรคหรือมรณะดำ

 
          ในบทความตอนที่ 1 ผู้เขียนได้อธิบายว่าดาวเคราะห์ของเราอยู่ในตำแหน่งที่พอดิบพอดีจากดวงอาทิตย์และเอื้อต่อการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจุลชีพเป็นสิ่งมีชีวิตยุคแรกๆ ที่ถือกำเนิดขึ้น ขณะที่สังคมของมนุษย์สมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดง่ายขึ้น ในบทความตอนที่ 2 เราจะมาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดาวเคราะห์โลก อาณาจักรจุลชีพ และสังคมมนุษย์ ผ่านการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของระบาดวิทยา (Mathematical Model of Epidemiology)


          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของวิชาระบาดวิทยา (Epidemiology) นักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์นามว่า ดาเนียล แบร์นูลลี (Daniel Bernoulli) เป็นบุคคลแรกที่พัฒนาแบบจำลองของการระบาดเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการรักษาโรคฝีดาษ อันดับแรก เราจะมาพิจารณาการสร้างแบบจำลองขนาดใหญ่ระดับโลก เพื่อทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของแบบจำลอง ผู้อ่านลองจินตนาการตามที่ผู้เขียนอธิบายนะครับ


ดาเนียล แบร์นูลลี นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และผู้บุกเบิกวิชาระบาดวิทยายุคใหม่ (ที่มา ETH-Bibliothek)

 
          หากเราย้อนเวลากลับไปตอนที่ประชากรโลกมีจำนวนเพียงหยิบมือ ไม่มีการเดินทางไป-กลับในระยะไกล และไม่มี “เส้นสมมติ” ที่แบ่งตำแหน่งบนพื้นผิวโลกออกเป็นเมือง รัฐ ประเทศ และทวีป ในสภาวะดังกล่าว โรคระบาดจะถูกจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดด้วยปัจจัยทางภูมิอากาศและสัตวภูมิศาสตร์ (Zoogeography) แต่เมื่อสังคมมนุษย์มีการพัฒนาที่ซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ขึ้น มนุษย์จึงทำการกำหนดเขตแดนของตนด้วยเส้นสมมติ โดยการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ของโลกออกเป็นเมือง รัฐ ประเทศ และทวีป เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า ขอบเขต (Boundary) และเรียกกิจกรรมของกลุ่มประชากรที่อยู่ภายในขอบเขตว่า เงื่อนไข (Condition) ซึ่งในที่นี้หมายถึงประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดของประชากรในขอบเขตนั้น เช่น การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การใส่หน้ากากอนามัย ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และอื่นๆ


          เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นภายในขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด นักระบาดวิทยาจะสามารถประเมินสถานการณ์ว่าการระบาดในแต่ละตำแหน่งของโลกจะเป็นอย่างไร เช่น แผนที่การระบาดใหญ่ (Pandemic Map) ของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าแต่ละประเทศมีความรุนแรงของการระบาดและมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคไม่เท่ากัน โดยอาจแสดงออกมาด้วยสี เช่น สีเขียวหมายถึงพื้นที่ที่ยังไม่พบการติดเชื้อ สีเหลืองหมายถึงพื้นที่เฝ้าระวัง สีแดงหมายถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และสีฟ้าหมายถึงพื้นที่ที่เคยมีการติดเชื้อ แต่สถานการณ์อันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้ว โปรแกรมที่นิยมนำมาใช้ในการทำแผนที่โรค (Disease Mapping) จะเป็นโปรแกรมในตระกูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System หรือ GIS) ซึ่งทำงานร่วมกับข้อมูลเชิงสถิติทางสาธารณสุข


แผนที่โรคไข้เลือดออกเดงกี (ที่มา Hay และคณะ)

 
          จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ การทำแผนที่โรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนายแพทย์จอห์น สโนว์ (John Snow) เป็นบุคคลแรกๆ ที่นำความรู้ทางระบาดวิทยามาประยุกต์ร่วมกับการทำแผนที่เพื่อควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคผ่านทางน้ำดื่มที่ถูกสูบขึ้นมาจากบ่อน้ำบริเวณถนนบรอดในย่านโซโหของกรุงลอนดอนเมื่อปี ค.ศ.1854 ซึ่งในตอนนั้นเขาใช้ปากกา กระดาษ และสองเท้าเพื่อเดินถามบ้านทีละหลังว่ามีคนเสียชีวิตกี่คน

 
นายแพทย์จอห์น สโนว์ ผู้จัดทำแผนที่อหิวาตกโรค ณ ย่านโซโห กรุงลอนดอน
  
 
          แผนที่การระบาดของอหิวาตกโรคโดยนายแพทย์จอห์น สโนว์ (จำลองโดย Charles Cheffins)

 
          คราวนี้ ผู้อ่านลองจินตนาการว่ามีประเทศ 4 แห่งที่มีชายแดนอยู่ติดกัน โดยประชากรในประเทศ 3 แห่งได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่มีอีก 1 ประเทศที่ประชากรได้รับวัคซีนล่าช้า ประชากรในประเทศดังกล่าวอาจกลายเป็นรังโรค (Reservoir) ซึ่งหมายถึงแหล่งที่เชื้อก่อโรคสามารถอยู่อาศัย เติบโต และเพิ่มจำนวน โดยมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นรังโรคได้ทั้งสิ้น กล่าวโดยสรุปคือประชากรภายในขอบเขตที่ได้รับวัคซีนล่าช้าจะมีความเสี่ยง 2 ทาง คือ รับเชื้อจากภายนอกเข้ามาสู่ภายใน และแพร่เชื้อจากภายในออกไปสู่ภายนอก ด้วยเหตุนี้ จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน และความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีนให้เข้าถึงประชากรในทุกระดับจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่ง


          ลำดับต่อไป เราจะมาพิจารณาการระบาดที่มีขนาดเล็กลง โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า แผนภาพโครงข่าย (Network Diagram) ลองสมมติว่านาย A เป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งนาย A เพิ่งออกไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน ได้แก่ นาย B C D และ E เราสามารถเขียนแผนภาพโครงข่ายโดยมีนาย A เป็นจุดศูนย์กลางแล้วลากเส้นจำนวน 4 เส้นออกไปหานาย B C D และ E ซึ่งนาย B C D และ E ก็อาจไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง เราจะเรียกนาย A B C D E และคนอื่นๆ ว่า ปม (Node) ซึ่งปมที่เชื่อมต่อถึงกันเป็นวงปิดจะเรียกว่า วงวน (Loop) โดยปม B C D และ E อาจเชื่อมต่อไปยังปมอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมกับปม A โดยตรง

 
แผนภาพโครงข่ายแสดงปมและวงวนของการระบาด

 
          พออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านที่เคยเรียนวิชาวิเคราะห์วงจรไฟฟ้า (Circuit Analysis) คงจะร้อง “อ๋อ” กันแล้วใช่ไหมครับ เพราะแผนภาพโครงข่ายดังกล่าวคล้ายคลึงกับวงจรไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ผู้ติดเชื้อและบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเปรียบเสมือนอุปกรณ์ไฟฟ้า เส้นทางการปฏิสัมพันธ์เปรียบเสมือนสายไฟฟ้า พฤติกรรมของผู้ติดเชื้อเปรียบเสมือนแรงเคลื่อนจากศักย์ไฟฟ้า และเชื้อโรคก็เปรียบเสมือนกระแสไฟฟ้า

 
ปมและวงวนในวงจรไฟฟ้าซึ่งสามารถวิเคราะห์ด้วยกฎของเคอร์ชอฟฟ์ (Kirchhoff’s Laws)
ที่มา https://www.electronics-tutorials.ws/dccircuits/dcp_4.html

 
          หากแต่ละปมในโครงข่ายมีการเชื่อมต่อถึงกันหมดโดยสมบูรณ์ (Fully-Connected Network) ก็หมายความว่าทุกคนในกลุ่มมีโอกาสติดเชื้อจากนาย A ดังนั้น กลุ่มคนที่ต้องถูกกักตัวและฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วนก็คือนาย A B C D E รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับนาย B C D และ E นักระบาดวิทยาเรียกการฉีดวัคซีนแบบนี้ว่า การฉีดวัคซีนแบบวงแหวน (Ring Vaccination) กล่าวโดยสรุปคือ แผนภาพโครงข่ายสามารถอธิบายว่าผู้ติดเชื้อมีปฏิสัมพันธ์กับใคร คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้ออยู่ใกล้ชิดกับคนอื่นๆ อีกกี่คน และเชื้อมีโอกาสแพร่จากบุคคลใดไปยังบุคคลใด คล้ายกับการไหลของกระแสไฟฟ้าผ่านสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ดังนั้น แผนภาพโครงข่ายจึงแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มี “แบบแผน” คล้ายคลึงกันสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการที่คล้ายคลึงกัน


การฉีดวัคซีนแบบวงแหวน (ที่มา Tom Griffin, CDC, and Alex Szymanski, 2017)

 
          แม้จะดูคล้ายว่าจุลชีพมีแต่ข้อเสีย แต่หากศึกษาให้ละเอียดจะพบว่าจุลชีพมิได้มีแต่ด้านมืดเพียงอย่างเดียว เพราะพวกมันมีบทบาทสำคัญต่อบรรยากาศ ผืนแผ่นดิน และมหาสมุทรเป็นอย่างมาก เช่น หากพิจารณาไวรัสภาค (Virosphere) เราจะพบว่าไวรัสและจุลชีพอื่นๆ มีส่วนสำคัญในการควบคุมจำนวนสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งสิ่งมีชีวิตในทะเลบางกลุ่มอย่างแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) สามารถทำการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) เพื่อผลิตออกซิเจนและควบคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจุลชีพคือผู้อยู่เบื้องหลังออกซิเจนจำนวนกว่าครึ่งที่เราหายใจ วิชาที่ศึกษาจุลชีพในมหาสมุทรเรียกว่า จุลชีพสมุทรศาสตร์ (Microbial Oceanography)


บทบาทของแพลงก์ตอนพืชในการผลิตออกซิเจน
ที่มา http://actionoutdoors.org/educational-resources/plankton/phytoplankton

 
          นอกจากนี้ จุลชีพในดินยังมีบทบาทในการควบคุมการเกิด การเติบโต และการตายของพืชในป่า ซึ่งควบคุมการผลิตออกซิเจน การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ การผลิตอาหาร และการปลดปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds หรือ VOCs) ออกสู่บรรยากาศ แล้วเปลี่ยนเป็นละอองลอยอินทรีย์ทุติยภูมิ (Secondary Organic Aerosols หรือ SOAs) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนควบแน่นของเมฆ (Cloud Condensation Nuclei หรือ CCN) โดยเมฆที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของพื้นผิวโลกด้วยค่าการสะท้อนรังสี (Albedo) วิชาที่ศึกษาจุลชีพในดินเรียกว่า ปฐพีจุลชีววิทยา (Soil Microbiology)



พืชมีส่วนช่วยในการก่อตัวของเมฆ (ที่มา Kolby J.Jardine และคณะ)

 
          อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกก็เดินหน้าเข้าสู่สภาวะปั่นป่วน เพราะจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำให้มีการใช้พลังงานและการปลดปล่อยมลภาวะออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล เช่น การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งนำไปสู่ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ที่รบกวนระบบการแกว่งกวัดทางภูมิอากาศ (Climate Oscillation) ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคืออุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อการกระจายตัวของสัตวพาหะ กล่าวคืออุณหภูมิที่สูงขึ้นจะชักนำให้สัตว์เหล่านี้อพยพไปยังพื้นที่เขตอบอุ่น ทำให้โอกาสการเกิดโรคระบาดมีมากขึ้น


          การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลต่อพฤติกรรมของพายุและปริมาณน้ำฝนด้วยเช่นกัน โดยการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนจะส่งผลต่อสมดุลกักเก็บของแหล่งน้ำ (Water Budget) ซึ่งสามารถอธิบายด้วยสมการความต่อเนื่อง (Continuity Equation)


สมการสมดุลการเปลี่ยนแปลงของแหล่งกักเก็บน้ำ

 
          เมื่อ ds/dt คือการเปลี่ยนแปลงปริมาณกักเก็บของน้ำต่อเวลา, I คือปริมาณน้ำไหลเข้า และ O คือปริมาณน้ำไหลออก จากสมการเราจะเห็นว่าหากมีน้ำไหลเข้าระบบมากกว่าน้ำไหลออกจากระบบก็จะทำให้เกิดน้ำล้นหรือน้ำเอ่อท่วมออกจากแหล่งกักเก็บน้ำและอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ไข้เหลือง ไข้ซิกา และมาลาเรีย รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่น้ำเสียจะเข้าไปปะปนกับน้ำดีแล้วกลายเป็นสาเหตุของโรคที่แพร่ระบาดทางน้ำ


          การเปลี่ยนแปลงของเหล่าจุลชีพไม่เคยหยุดนิ่ง เพราะแวดวงชีววิทยามีการศึกษาเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างยาปฏิชีวนะกับแบคทีเรีย กล่าวคือเมื่อเราสร้างยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งขึ้นมาเพื่อกำราบแบคทีเรียกลุ่มหนึ่ง แบคทีเรียส่วนหนึ่งจะวิวัฒนาการโต้กลับ ทำให้เราต้องใช้ยาที่แรงขึ้นเพื่อสู้กลับ เป็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา เหตุการณ์ทำนองนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์ราชินีสีแดง (Red Queen Effect)


          สำหรับไวรัส การกลายพันธุ์ (Mutation) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น แต่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น หรืออาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลยก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) ที่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลอย่างรวดเร็วมาใช้พัฒนาสูตรยาและวัคซีน ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้อาจช่วยลดระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาจากหลักหลายเดือนหรือหลายปีให้เหลือเพียงหลักชั่วโมงหรือหลักวันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม แนวทางการวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น


          พออ่านมาถึงย่อหน้าสุดท้ายของบทความ ผู้อ่านคงพอเห็นภาพรวมอย่างคร่าวๆ แล้วว่าดาวเคราะห์โลกของเรา อาณาจักรของจุลชีพ และสังคมของมนุษย์มีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งในปัจจุบันยังมีโรคอีกหลายชนิดที่เราไม่สามารถกำราบได้ อีกทั้งไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกเมื่อไร ภาวะโลกร้อนจะปลดปล่อยจุลชีพโบราณที่อันตรายออกมาจากชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) หรือไม่ สงครามในอนาคตจะเปลี่ยนจากอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นอาวุธชีวภาพหรือเปล่า และท่ามกลางมหาสมุทรแห่งดวงดาวยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่อีกไหม แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือจุลชีพตัวจิ๋วสามารถพลิกวิถีชีวิตของมนุษย์ให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างง่ายดายจนเราต้องรีบพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อรับมือกับมัน!

 
บทความโดย

สมาธิ ธรรมศร

ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เอกสารและสิ่งอ้างอิง