ทันจิโร่ฟันหินขาดเป็นสองท่อน
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “Kimetsu no Yaiba” คือหนึ่งในการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก ชาวตะวันตกรู้จักในชื่อ “Demon Slayer” ส่วนชาวไทยจะคุ้นเคยในชื่อ “ดาบพิฆาตอสูร” เล่าเรื่องโดยย่อแบบไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ ดาบพิฆาตอสูรเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมและการต่อสู้ของคามาโดะ ทันจิโร่ (Kamado Tanjirou) เพื่อปกป้องน้องสาวที่มีชื่อว่า เนซึโกะ (Nezuko) ซึ่งถูกคิบุตสึจิ มุซัน (Kibutsuji Muzan) เปลี่ยนให้กลายเป็นอสูร ทันจิโร่จึงต้องฝึกฝนตนเองให้กลายเป็นนักดาบที่เก่งกาจและกำจัดมุซันซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด ในช่วงแรกของการฝึกวิชาดาบและพลังปราณ ทันจิโร่ถูกชี้นำโดยชายลึกลับนามว่า ซาบิโตะ (Sabito) ว่าการฝึกให้สำเร็จจะต้องใช้ดาบฟาดฟันหินยักษ์ก้อนหนึ่งให้ขาดเป็นสองท่อน จากความรู้วิชาวัสดุศาสตร์ (Material Science) แรงจากดาบที่กระทำต่อวัตถุสามารถอธิบายได้ด้วยสมการ
เมื่อ τ คือความเค้นเฉือน (Shear Stress หน่วยนิวตันต่อตารางเมตร), F คือแรงภายนอกที่กระทำต่อวัตถุ (Applied Force หน่วยนิวตัน) และ A คือพื้นที่หน้าตัดที่ถูกแรงภายนอกกระทำ (Cross-sectional Area หน่วยตารางเมตร)
เมื่อพิจารณาจะพบว่าดาบสามารถผ่าวัตถุโดยการกดด้านคมลงไปตรงๆ แต่การผ่าจะง่ายกว่าเมื่อออกแรงกระทำด้วยการเฉือน หินที่ถูกตัดขาดเป็นสองท่อนมิได้มีอยู่แค่ในการ์ตูน แต่มีปรากฏให้เห็นอยู่บนโลกเป็นจำนวนมาก เช่น หินอิตโตะ (Itto Stone) ที่ศาลเจ้าอะมะโนะอิวาเตะ (Amanoiwatate Shrine) เมืองนารา (Nara) ประเทศญี่ปุ่น ตามตำนานเล่าว่าหินดังกล่าวเป็นร่องรอยที่หลงเหลืออยู่จากการต่อสู้ระหว่างนักดาบนามว่า ยางิว มุเนะโทชิ (Yagyu Munetoshi) กับสิ่งมีชีวิตในตำนานที่เรียกว่า เท็นงู (Tengu) ซึ่งหินอิตโตะถูกยางิวฟันขาดครึ่งเพราะหมายมั่นจะปลิดชีพของเท็นงู แต่มันกลับหนีรอดไปได้เสียก่อน
หากใครเคยเรียนวิชาธรณีวิทยากายภาพ (Physical Geology) คงจะทราบว่าหินมีการผุพังทางกายภาพ (Physical Weathering) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมีผลต่อการขยายตัว (Expansion) และการหดตัว (Contraction) ของแร่ประกอบหิน เช่น หินที่มีรอยแตกร้าวและมีน้ำแทรกอยู่สามารถเกิดลิ่มน้ำแข็ง (Frost Wedging) ซึ่งจะขยายตัวออกเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงจุดเยือกแข็ง นอกจากนี้ ปัจจัยทางธรณีเคมี (Geochemistry) และธรณีชีววิทยา (Geobiology) ก็มีผลต่อการผุพังของหินด้วยเช่นกัน ไม่แน่นะครับ หินยักษ์ก้อนนั้นอาจจะมีรอยร้าวที่เกิดจากการขยายตัวของน้ำแข็งอยู่ก่อนแล้ว แต่บังเอิญแตกออกในจังหวะที่ทันจิโร่ฟันดาบลงไปพอดีก็เป็นได้ (ทันจิโร่ไม่ถูกใจสิ่งนี้!)
พอผู้เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับ “ดาบ” และ “หิน” ผู้อ่านหลายท่านคงจะนึกถึงตำนานปรัมปราเกี่ยวกับดาบอาญาสิทธิ์ที่ถูกวีรบุรุษคนหนึ่งดึงออกมาจากหิน ใช่ครับ เรื่องต่อไปที่ผู้เขียนจะเล่าก็คือตำนานของกษัตริย์อาเธอร์ (King Arthur) ดาบเอกซ์คาลิเบอร์ (Excalibur) และอัศวินโต๊ะกลม (Knights of the Round Table)
ณ อาณาจักรแห่งหนึ่งที่ไร้กษัตริย์ปกครองมานานปี มีดาบเล่มหนึ่งถูกปักอยู่ในหินก้อนใหญ่ เพื่อสรรหากษัตริย์องค์ใหม่ ทางวังหลวงจึงประกาศว่า “ผู้ใดที่สามารถดึงดาบออกมาจากหินได้ ผู้นั้นคือกษัตริย์ที่ถูกเลือก” แต่กลับไม่มีชายใดทำสำเร็จ กระทั่งเด็กหนุ่มนามว่า “อาเธอร์” ลองดึงดาบ ดาบก็หลุดออกมาจากหินอย่างง่ายดาย พ่อของเขาจึงเล่าความจริงให้เขาฟังว่าแท้จริงแล้วอาเธอร์คือเชื้อสายของกษัตริย์ยูเธอร์ (Uther) แต่พระองค์มีศัตรูอยู่รอบกาย พ่อมดเมอร์ลิน (Merlin) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระองค์จึงนำโอรสน้อยมาฝากให้ตนเลี้ยง แล้วพระองค์ก็ถูกศัตรูวางยาพิษจนถึงแก่ชีวิต ดาบที่อาเธอร์ดึงออกมาจากหินมีชื่อว่า “เอกซ์คาลิเบอร์” ซึ่งเคยเป็นของกษัตริย์ยูเธอร์มาก่อน โดยพระองค์ทรงรับมาจากภูตแห่งทะเลสาบอีกทีหนึ่ง เมื่อกษัตริย์อาเธอร์ขึ้นครองบัลลังก์ พระองค์ก็ทรงเฟ้นหาชายหนุ่มผู้กล้าหาญเพื่อแต่งตั้งเป็นอัศวินโต๊ะกลม แล้วพระองค์ก็ทรงอภิเษกสมรสกับราชินีกวินิเวียร์ (Guinevere) วีรกรรมของกษัตริย์อาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลมมีมากมาย นอกจากนี้ พระองค์ยังต้องรับมือกับมอร์แกน เลอ เฟร์ (Morgan Le Fay) แม่มดที่ประสงค์ร้ายต่ออาณาจักร ในช่วงบั้นปลาย กษัตริย์อาเธอร์ทรงผิดใจกับลานเซล็อต (Lancelot) ผู้เป็นอัศวินโต๊ะกลมคนสนิท เพราะลานเซล็อตแอบเป็นชู้กับราชินีของตน เมื่อเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อาณาจักรก็ตกอยู่ในภาวะอ่อนแอและถูกอัศวินโต๊ะกลมนามว่ามอร์เดร็ด (Mordred) ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสมุนของมอร์แกน เลอ เฟร์ ช่วงชิงอาณาจักรไป พระองค์จึงสงบศึกกับลานเซล็อตและต่อสู้กับมอร์เดร็ดจนเอาชนะได้สำเร็จ แต่พระองค์ก็บาดเจ็บสาหัสด้วยเช่นกัน เมื่อตระหนักว่าวาระสุดท้ายของตนมาถึงแล้ว พระองค์จึงมอบหมายให้อัศวินโต๊ะกลมนามว่าเบดิเวียร์ (Bedivere) นำดาบเอกซ์คาลิเบอร์กลับไปคืนให้แก่ภูตแห่งทะเลสาบ แล้วพระองค์ก็หายสาบสูญไปชั่วนิรันดร์
ตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์ ดาบเอกซ์คาลิเบอร์ และอัศวินโต๊ะกลมมีอยู่หลายเวอร์ชั่น แต่ทุกเวอร์ชั่นล้วนถูกแต่งแต้มด้วยการผจญภัย สงคราม และเวทมนต์ จนนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเชื่อว่าตำนานดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องแต่งที่แทบจะไม่มีมูลความจริง อย่างไรก็ตาม ดาบเอกซ์คาลิเบอร์มีคุณสมบัติที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “ดาบเล่มนี้สามารถตัดได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งเหล็กกล้า” คำถามคือผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าเหล็ก (Iron) กับเหล็กกล้า (Steel) แตกต่างกันอย่างไร?
จากความรู้วิชาโลหะวิทยา (Metallurgy) โลหะ (Metal) หมายถึงวัสดุที่ได้จากการถลุงสินแร่ (Ore) เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม นิกเกิล ดีบุก สังกะสี ทองคำ และตะกั่ว โลหะทั่วไปมีสภาพการนำความร้อน (Thermal Conductivity) และสภาพการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) ที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากโลหะมีอิเล็กตรอนที่สามารถเคลื่อนที่ได้ง่ายกระจายอยู่ทั่วไป รวมถึงมีสถานะเป็นของแข็ง (ยกเว้นปรอท) มีความทึบแสง และมีผิวมันวาว หากเรานำโลหะตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมหลอมรวมกันจะเรียกว่า โลหะผสม (Alloy) โลหะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โลหะประเภทเหล็ก (Ferous Metal) หมายถึงโลหะที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญ กับโลหะประเภทที่ไม่ใช่เหล็ก (Non-Ferous Metal) หมายถึงโลหะที่ไม่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญ เหล็กตามธรรมชาติจะอยู่ในรูปสินแร่เหล็ก (Iron Ore) โดยจะปะปนอยู่กับโลหะและแร่ประกอบหินอื่นๆ หากเราต้องการนำเหล็กมาใช้ประโยชน์จะต้องนำสินแร่เหล็กไปทำให้บริสุทธิ์ด้วยการถลุงที่อุณหภูมิสูงเพื่อทำให้สินแร่เหล็กหลอมละลายกลายเป็นของเหลวและแยกแร่อื่นที่ไม่ต้องการออกไป จากนั้นจึงทำการหล่อ (Casting) การตี (Forging) หรือการรีด (Rolling) เพื่อขึ้นรูปตามจุดประสงค์ของการใช้งาน ปกติแล้ว เหล็กจะมีความยืดหยุ่นต่ำ ในเวลาต่อมาจึงมีการเติมคาร์บอนลงไปเล็กน้อย (ไม่เกิน 1.2 เปอร์เซ็นต์) เพื่อทำให้เหล็กมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการใช้งานและเรียกว่า “เหล็กกล้า” ดังนั้น โบราณวัตถุที่ทำจากเหล็กกล้าจึงสามารถนำมาหาอายุได้ด้วยวิธีคาร์บอน-14 (Carbon-14 Dating หรือ Radiocarbon Dating)
แม้เราจะไม่ทราบว่าดาบเอกซ์คาลิเบอร์ถูกตีขึ้นมาจากวัสดุใด แต่ในเรื่องดาบพิฆาตอสูรก็มีการใช้ดาบคาตานะ (Katana) ที่ถูกตีขึ้นจากเหล็กกล้าทามาฮะกะเนะ (Tamahagane Steel) เช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คืออารยธรรมโบราณหลายแห่ง เช่น อียิปต์ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป มีการนำหินวิเศษที่ล่วงหล่นจากฟากฟ้ามาเป็นวัตถุดิบในการถลุงเหล็กแล้วพัฒนาเป็นเครื่องประดับ อาวุธ และเครื่องใช้ต่างๆ หินเหล่านั้นก็คืออุกกาบาต (Meteorite)
อุกกาบาตหมายถึงวัตถุจากอวกาศที่เคลื่อนที่ผ่านบรรยากาศและตกกระทบพื้นผิวโลก ความจริงแล้ว โลกของเรามีวัตถุเคลื่อนที่ผ่านทุกวัน วัตถุส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและถูกเผาไหม้จนหมด แต่หากวัตถุมีขนาดมากกว่า 20 เมตรก็อาจตกลงมาถึงพื้นผิวโลกได้ นักดาราศาสตร์แบ่งอุกกาบาตออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. อุกกาบาตหิน (Stony Meteorite) หมายถึงอุกกาบาตที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแร่ประกอบหินจำพวกซิลิเกต (Silicate) มีโลหะผสมของเหล็กกับนิกเกิลปะปนอยู่น้อยกว่าอุกกาบาตชนิดอื่น อุกกาบาตหินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คอนไดร์ท (Chondrite) ซึ่งมีเม็ดทรงกลมขนาดเล็กของแร่โอลิวีน (Olivine) และไพรอกซีน (Pyroxene) ที่เรียกว่า คอนดรูล (Chondrule) อยู่เป็นจำนวนมาก อีกกลุ่มหนึ่งคือ อะคอนไดร์ท (Achondrite) ซึ่งไม่มีคอนดรูลและมีเหล็กกับนิกเกิลน้อยกว่า
อุกกาบาตหินแบบ Chondrite (ซ้าย) และแบบ Achondrite (ขวา)
2. อุกกาบาตเหล็ก (Iron Meteorite) หมายถึงอุกกาบาตที่มีโลหะผสมของเหล็กกับนิกเกิลเป็นส่วนประกอบหลักและพื้นผิวด้านนอกมีลักษณะเป็นมันวาว
ผิวด้านนอก (ซ้าย) และเนื้อในของอุกกาบาตเหล็ก (ขวา)
3. อุกกาบาตหินผสมเหล็ก (Stony-Iron Meteorite) หมายถึงอุกกาบาตที่มีส่วนประกอบของหินและโลหะอย่างละครึ่งโดยประมาณ สามารถแบ่งออกเป็น Pallasite กับ Mesosiderite ซึ่งมีส่วนประกอบแตกต่างกัน
อุกกาบาตที่ตกกระทบพื้นผิวโลกจะทำให้เกิดหลุมอุกกาบาต (Meteor Crater) ที่มีขนาดแตกต่างกันไป กระบวนการเกิดหลุมอุกกาบาตแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะสัมผัสและบีบอัด (Contact and Compression Stage) หมายถึงช่วงเวลาที่อุกกาบาตสัมผัสกับพื้นผิวโลก เกิดการส่งผ่านพลังงานออกไปในรูปของแรงปะทะและคลื่นกระแทก (Shock Wave) ทำให้อุกกาบาตและพื้นผิวโลกตรงจุดตกเกิดการหลอมละลาย รวมถึงมีเศษวัตถุถูกกระแทกจนลอยขึ้นไปในอากาศแล้วตกลงมาใกล้จุดปะทะ
2. ระยะขุดเจาะ (Excavation Stage) หมายถึงช่วงเวลาที่อุกกาบาตเจาะทะลุพื้นดินด้วยพลังของคลื่นกระแทกและคลื่นที่สะท้อนกลับจนทำให้หน้าดินถูกเปิดให้ขยายกว้างขึ้น จากนั้นจึงหยุดลงและกลายเป็นโพรงชั่วคราว (Transient Cavity)
3.ระยะปรับเปลี่ยน (Modification Stage) หมายถึงช่วงเวลาหลังเกิดการปะทะและการขุดเจาะ ของไหลและแรงโน้มถ่วงจะทำหน้าที่ปรับสมดุลของหลุมอุกกาบาตให้มีความชันน้อยลง
รูปร่างและขนาดของหลุมอุกกาบาตถูกกำหนดด้วยมวล ความเร็ว ทิศทางการพุ่งชนของวัตถุ และสภาพทางธรณีวิทยาของจุดที่อุกกาบาตตก โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. หลุมอย่างง่าย (Simple Crater) มีลักษณะคล้ายชามโค้งมน หลุมอุกกาบาตขนาดเล็กและขนาดกลางมักจะมีลักษณะเป็นหลุมอย่างง่าย
2. หลุมแบบซับซ้อน (Complex Crater) มีลักษณะเด่นคือมีเนินอยู่ตรงกลางและมีโครงสร้างรูปวงแหวน (Ring Structure) รายล้อมอยู่โดยรอบ หลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่มักจะเป็นหลุมแบบซับซ้อน
นักดาราศาสตร์สามารถจำแนกว่าวัตถุใดเป็นอุกกาบาตหรือหินบนโลก โดยพิจารณาจากจุดสังเกตและการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1. รูปร่าง: อุกกาบาตมักมีรูปร่างไม่เป็นทรงกลมและไม่สมมาตร เพราะการเสียดสีและเผาไหม้ในบรรยากาศ
2. สี: อุกกาบาตที่เพิ่งตกลงมามักมีสีดำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสีของอุกกาบาตจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดง เนื่องจากการทำปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อมบนโลกจนเกิดเป็นสนิม
3. พื้นผิว: อุกกาบาตหินมักมีเปลือกหลอม (Fusion Crust) สีดำเป็นประกายที่เกิดจากการเผาไหม้ในบรรยากาศ ส่วนอุกกาบาตเหล็กจะมีผิวมันวาวสีดำและมีหลุมโค้งเว้าที่เรียกว่า เร็กมาลิบ (Regmaglypts)
4. รูพรุน: หินภูเขาไฟบางชนิดมีรูพรุนของฟองอากาศจำนวนมาก แต่ในอวกาศไม่มีอากาศ อุกกาบาตจึงไม่มีรูพรุน หากพบวัตถุต้องสงสัยที่มีรูพรุนจึงควรจำแนกว่าเป็นหินภูเขาไฟ ไม่ใช่อุกกาบาต
5. สมบัติทางฟิสิกส์และเคมี: อุกกาบาตส่วนใหญ่มักมีสมบัติทางแม่เหล็ก ทนทานต่อการขัดสี มีประกายโลหะอยู่ภายในเนื้อสาร มีความหนาแน่นสูงกว่าหินบนโลก และมีปฏิกิริยาทางเคมีเนื่องจากมีส่วนประกอบของนิกเกิลและโลหะอื่นๆ ปะปนอยู่
พออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะทราบแล้วว่าดาบพิฆาตอสูร ตำนานดาบอาญาสิทธิ์ และอุกกาบาตโบราณ เกี่ยวข้องกันอย่างไร เห็นไหมครับ การดูการ์ตูนและอ่านตำนานปรัมปราก็มีแง่มุมทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจให้ศึกษา แถมมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย
บทความโดย
สมาธิ ธรรมศร
ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เอกสารและสิ่งอ้างอิง