(ภาพจาก https://www.jpl.nasa.gov/news/news.php?feature=7252)
ยานวอยเอจเจอร์ 2 กำลังจะเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นอันดับที่ 2 ต่อจากยานพี่น้องของมันคือยานวอยเอจเจอร์ 1ที่ได้ออกสู่บริเวณเฮลิโอสเฟียร์ มุ่งไปสู่อวกาศอันเวิ้งว้างของพื้นที่ว่างระหว่างดาวฤกษ์
ยานวอยเอจเจอร์ 2 (Voyager 2) เป็นยานสำรวจดาวเคราะห์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า นาซา (NASA) ยานลำนี้ถูกปล่อยไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 นับจนถึงปีปัจจุบัน ค.ศ. 2018 ก็กว่า 41 ปีมาแล้ว โดยมันถูกปล่อยก่อนฝาแฝดของมันคือยานวอยเอจเจอร์ 1 อยู่ 16 วัน ทั้งสองลำอยู่ในโครงการวอยเอจเจอร์เพื่อสำรวจดาวเคราะห์วงนอก เราได้ข้อมูลและรูปภาพจำนวนมาก นับเป็นข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับดาวเคราะห์วงนอกและดวงจันทร์บริวารของพวกมัน ทำให้เรามีความเข้าใจเรื่องดาวเคราะห์ต่างๆมากยิ่งขึ้น
ในปี ค.ศ. 2012 ยานวอยเอจเจอร์ 1 ได้เคลื่อนที่สู่อวกาศอันเวิ้งว้างออกนอกบริเวณเฮลิโอสเฟียร์ มันได้ท่องเที่ยวไปไกลกว่าใครๆหรือสิ่งใดๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ และในปี ค.ศ. 2018 ก็ถึงตาของยานวอยเอจเจอร์ 2
ปัจจุบัน ณ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 ยานวอยเอจเจอร์ 2 กำลังเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วที่สูงมาก โดยมันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 17 700 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 118 เท่าของระยะทางระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ ซึ่งนับเป็นระยะทางที่ไกลมาก
แล้วเราทราบได้อย่างไรว่ายานวอยเอจเจอร์ 2 กำลังมุ่งหน้าออกนอกบริเวณเฮลิโอสเฟียร์ ตามที่ Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL ของนาซา ได้ลงข้อมูลใหม่ในเว็บไซท์และอธิบายว่า ยานวอยเอจเจอร์ 2 ได้ส่งข้อมูลกลับมาและข้อมูลนั้นแสดงให้เห็นถึงว่ายานกำลังได้รับรังสีคอสมิกเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคย ยานวอยเอจเจอร์ 2 มีเครื่องตรวจจับและมันพบว่าในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2018 ยานได้รับรังสีคอสสมิกเพิ่มขึ้น 5% เทียบกับต้นเดือนสิงหาคม ในปีเดียวกัน
การได้รับรังสีคอสมิกเพิ่มขึ้นนั้นสิ่งนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ยานวอยเอจเจอร์ 1 มาแล้วตอนออกจากบริเวณเฮลิโอสเฟียร์ โดยบริเวณนี้ เป็นดังลูกโป่งขนาดใหญ่ที่ขนาดปกคลุมระบบสุริยะของเราทั้งหมดและเลยไปไกลกว่าขอบเขตวงโคจรของดาวพลูโต โดยในบริเวณนี้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมสุริยะของดวงอาทิตย์ ทำหน้าที่ปกป้องระบบสุริยะจากรังสีคอสมิก และมีขอบของเฮลิโอสเฟียร์ที่เราเรียกว่าเฮลิโอพอส (heliopause) คือบริเวณที่ลมสุริยะของดวงอาทิตย์ได้ถูกหยุดลงเพราะเป็นบริเวณแรงดันของสสารระหว่างดาวกับลมสุริยะเข้าสู่สมดุลกัน
ฉะนั้นแล้วถ้ายานวอยเอจเจอร์ 2 ได้รับรังสีคอสมิกมากขึ้นก็แสดงว่ามันกำลังออกนอกบริเวณเฮลิโอสเฟียร์แล้วตามยานฝาแฝดยานวอยเอจเจอร์ 1 ไป
แต่นั่นก็ยังไม่แน่นอนนัก สมาชิกในทีมของโครงการวอยเอจเจอร์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การเพิ่มขึ้นของรังสีคอสมิกที่ยานได้รับนั้นก็ยังไม่ใช้คำยืนยันที่แน่นอนว่ายานได้ข้ามเฮลิโอพอส (heliopause) ไปแล้ว เพราะยานวอยเอจเจอร์ 2 อยู่บริเวณ heliosheath หรือพื้นที่รอบนอกของเฮลิโอสเฟียร์ คนละบริเวณกับยานยานวอยเอจเจอร์ 1 การอยู่คนละบริเวณกันการออกจากจากเฮลิโอสเฟียร์อาจจะมีกำหนดการณ์ที่ต่างกัน
เพราะยานวอยเอจเจอร์ 1 และยานวอยเอจเจอร์ 2 มีทิศทางการเคลื่อนที่ที่ต่างกัน มันจึงยากที่เราจะบอกว่ายานแต่ละลำจากออกจากเฮลิโอสเฟียร์เมื่อไหร่ แต่จากข้อมูลล่าสุด ทีมงานของโครงการวอยเอจเจอร์ต้องจับตาดูข้อมูลที่ยานวอยเอจจเอร์ 2 ส่งกลับมาอย่างละเอียด เพื่อจะยืนยันว่ายานวอยเอจเจอร์ 2 นั้นได้ถึงบริเวณเฮลิโอพอส ซึ่งนับว่าเป็นขอบที่สิ้นสุดของระบบสุริยะของเราจบลง เพื่อที่จะประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนได้
เอ็ด สโตน (Ed Stone) นักวิทยาศาสตร์ในทีมโครงการวอยเอจเจอร์กล่าวว่า เรากำลังพบการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบยานวอยเอจเจอร์ 2 อย่างไม่ต้องสงสัย เราจะได้เรียนรู้อีกมากในหลายเดือนข้างหน้า เรายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ยานวอยเอจเจอร์ 2 จะถึงเฮลิโอพอส ขอบที่สิ้นสุดของระบบสุริยะของเรา
และเราอาจจะต้องติดตามข่าวสารอีกทีว่าจะมีประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้เมื่อใด และนี่ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นส่งอุปกรณ์สำรวจไปไกลแสนไกล ไปจนถึงสุดขอบของระบบสุริยะ บุกเบิกดินแดนใหม่ๆที่ไม่เคยมีใครหรือสิ่งใดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เคยได้ไปสำรวจถึงมาก่อน ไปสู่พรมแดนแห่งใหม่เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ๆแก่มนุษยชาติ
เรียบเรียงโดย
ณัฐพล โชติศรีศุภรัตน์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ