(ภาพจาก https://www.jpl.nasa.gov/news/news.php?feature=7284)
ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา และก็ถึงคราวบอกลากล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ เพราะเชื้อเพลิงของมันได้หมดลง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration) หรือ องค์การนาซา ได้ออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2018 เป็นการปิดฉากภารกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษจิกายน ค.ศ. 2018 รวมระยะกว่า 9 ปี จากที่วางแผนไว้เพียง 3 ปี นับตั้งแต่ปล่อยยานขึ้นไปในปี ค.ศ. 2009
แต่เราจะไม่มีวันลืมกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ เพราะความรู้ ข้อมูลที่มันมอบให้แก่มนุษย์นั้นมีประโยชน์อย่างมากต่อวงการดาราศาสตร์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ถูกส่งออกไปนอกโลกเพื่อภารกิจโดยเฉพาะคือการค้นหา ดาวเคราะห์นอกระบบ (exoplanet) หรือหาดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นๆที่อยู่นอกระบบสุริยะของเรา มันถูกตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 16 โยฮันเนส เคปเลอร์ ผู้มีผลงานสำคัญคือ
กฎการเคลื่อนที่ของเคปเลอร์ 3 ข้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญต่อไอแซก นิวตัน ดังที่นิวตันเคยบอกว่า ที่ฉันเห็นได้ไกลกว่าเพราะฉันยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ นิวตันสามารถสรุปกฎการเคลื่อนที่ของเคปเลอร์เข้ากันได้กับกฎความโน้มถ่วงสากลของนิวตันเองโดยใช้วิชาแคลคูลัส ซึ่งนิวตันเองเป็นคนค้นพบ
สมัยก่อนที่จะกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ทำงานกันอย่างยากลำบากในการหาดาวเคราะห์นอกระบบเพราะมันไม่มีแสงสว่างในตัวมันเอง มีเพียงประมาณ 350 ดวงเท่านั้นที่ถูกค้นพบและส่วนใหญ่เกือบจะทั้งหมดนั้นเป็นดาวเคราะห์นอกระบบที่ขนาดใหญ่เท่าดาวพฤหัสหรือใหญ่กว่านั้นมา พอนักวิทยาศาสตร์มีกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ตลอดภารกิจกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบทั้งสิ้น 2 720 ดวง จากดาวเคราะห์นอกระบบที่เราค้นพบทั้งหมดจนถึงปลายปี ค.ศ. 2018 ทั้งสิ้นกว่า 3 800 ดวง นี่คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 71
(ภาพจาก https://www.nydailynews.com/life-style/scientists-star-wars-two-sun-planets-exist-article-1.2168170)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์พบดาวเคราะห์นอกระบบทุกขนาดและทุกรูปร่าง ยกตัวอย่างเช่น มันค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบ 7 ดวง โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน ซึ่งใกล้เคียงกับระบบสุริยะของเราที่มีดาวเคราะห์ 8 ดวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ มันยังพบดาวเคราะห์ 5 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ซึ่งมีอายุมากกว่าโลกถึง 2 เท่า (โลกมีอายุประมาณ 4 500 ล้านปี) ซึ่งดาวเคราะห์เหล่านี้ก่อตัวขึ้นในตอนเริ่มต้นพร้อมกับการก่อตัวของกาแล็กซีทางช้างเผือก
มันยังค้นพบว่าดาวเคราะห์บางดวงมีดวงอาทิตย์ถึง 2 ดวง เหมือนดาวเคราะห์ทาทูอิน (Tatooine) ดาวบ้านเกิดของอนาคิน สกายวอล์คเกอร์ ในภาพยนต์สตาร์ วอร์ส
นักวิทยาศาสตร์เกือบจะบอกลากล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ไปแล้วครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 2013 ตอนนั้นมีปัญหาของการสูญเสียการควบคุมของ reaction wheels ซึ่งใช้เป็นส่วนสำคัญในการที่กล้องโทรทรรศน์จะชี้ไปได้ตรงมั่นคงถาวรไปยังทิศหนึ่งของอวกาศที่ต้องการสังเกต แต่นักวิทยาศาสตร์ได้แก้ปัญหาโดยใช้โหมดการสังเกตใหม่ โดยใช้ความดันของแสงอาทิตย์จากแผงสุริยะของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์เพื่อให้มันสามารถจะชี้ไปยังทิศทางที่ต้องการสังเกตได้อย่างมั่นคงถาวร
ในตอนเย็นของวันพฤหัสบดีที่ 15 เดือนพฤษจิกายน ค.ศ. 2018 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ได้รับคำสั่งสุดท้ายเพื่อยุติการเชื่อมต่อการสื่อสารกับโลก ซึ่งคำสั่งนี้เป็นการยุติการทำงานของโครงการสำรวจอวกาศนี้อย่างเป็นทางการ และเป็นเรื่องบังเอิญที่มันเป็นวันเดียวกับวันที่โยฮันเนส เคปเลอร์เสียชีวิตลงครบรอบ 388 ปีพอดี
เมื่อพบกันก็ต้องมีวันจากลา ทุกสิ่งล้วนครอบครองได้ชั่วคราว กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ได้ล่องลอยไปอย่างอิสระในอวกาศอันไกลโพ้นห่างจากโลก 151 ล้านกิโลเมตร อย่างไรก็ตามภารกิจการสำรวจอวกาศของมนุษย์ยังไม่จบลงเพียงแค่นี้ งานวิทยาศาสตร์เป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ เรายังคงสำรวจธรรมชาติและอวกาศไปเรื่อยๆ กล้องโทรทรรศน์อวกาศอันใหม่ที่ชื่อ TESS หรือ Transiting Exoplanet Survey Satellite ได้ถูกปล่อยไปสู่อวกาศเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2018 โดยจรวดฟัลคอน 9 ที่ผลิตโดยบริษัท SpaceX เพื่อภารกิจเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ คือสำรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่ามันถูกคาดการณ์ว่าจะค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบมากกว่า 20 000 ดวง ตลอดภารกิจ 2 ปีของมัน
ได้เวลาบอกลากล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์และก็ได้เวลากล่าวทักทายกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศอันใหม่นามว่าTESS ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์มนุษย์เรา และมันอาจจะเป็นบ้านหลังใหม่ของเรา เพราะการค้นพบทางวิทยาศาสตร์นอกจากจะเปลี่ยน สร้างวิธีการดำรงชีวิตใหม่ๆที่ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น มันอาจจะช่วยค้นพบบ้านหลังใหม่ของเราในอนาคตก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย
ณัฐพล โชติศรีศุภรัตน์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ